xs
xsm
sm
md
lg

“เธียรชัย” ชี้รัฐต้องมีคนรับผิดชอบหากเคาะให้ทำโครงการแล้วมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเธียรชัย ณ นคร กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แจง รธน. “ปกรณ์” ชี้ภาครัฐต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน คุ้มครองให้ใช้อย่างอิสระ ข้อใดถ้าไม่อยู่ในบัญญัติสามารถทำได้ ด้าน “ภัทระ” ชูห้าม ส.ส.-ส.ว.จุ้นรับสัมปทานจากรัฐ เป็นหุ้นส่วน และแทรกแซงสื่อ “เธียรชัย” แนะทำอีเอชไอเอให้ถูกต้อง ต้องมีคนรับผิดชอบหากตัดสินใจให้ทำแล้วเกิดผลเสียมากกว่าดีกับสิ่งแวดล้อม ต้องเยียวยาผู้ที่เสียสละให้ดีกว่าเดิม

วันนี้ (9 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดโครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้แก่สื่อมวลชน ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หมวด8 คณะรัฐมนตรี และหมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์

โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรธ. กล่าวถึงสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 3 สิทธิ และเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตอนหนึ่งว่า การร่างรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 3 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย กรธ.ได้พิจารณาให้เป็นไปตามหลักสากลมากที่สุดโดยให้ประชาชน มีสิทธิและเสรีภาพตั้งแต่กำเนิด ซึ่งตอนร่างรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิและเสรีภาพในขณะนั้น ได้นำหลักสากลในด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และวัฒนธรรม และปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติ มาพิจารณาร่วมด้วย ซึ่งสิทธิและเสรีภาพ เป็นหลักที่ไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ ภาครัฐต้องมีความรับผิดชอบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วย คือ ต้องไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ต้องคุ้มครอง และ ดำเนินการให้ประชาชนใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้อย่างอิสระอย่างแท้จริง และข้อบัญญัติใดที่ไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ประชาชนสามารถทำได้โดยไม่ขัดต่อความมั่นคงของรัฐและสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

ขณะที่ นายภัทระ คำพิทักษ์ กรธ.ได้กล่าวถึงหมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ตอนหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่เข้าไปแทรกแซงการรับสัมปทานจากรัฐ หรือเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนที่รับสัมปทานจากภาครัฐ ทั้งทางตรง และทางอ้อม และไม่กระทำการใดๆ ที่แทรกแซงการใช้สิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ต้องไม่ทำการใดที่เป็นทางตรงและทางอ้อมในการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง โดย ครม.ต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมีมติรับรองการแต่งตั้ง ครม.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งการลงคะแนนต้องเป็นไปอย่างเปิดเผย

ด้านนายเธียรชัย ณ นคร กรธ.กล่าวถึงหมวดการปฏิรูปประเทศ ตอนหนึ่งว่า เป็นเรื่องใหม่ในรัฐธรรมนูญโดย กรธ.ได้พิจารณาหมวดปฏิรูปให้เป็นส่วนขับเคลื่อนการบริหารประเทศ และนำสู่การปรับฐานการดำเนินงานพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ พิจารณาแนวทางการปฏิรูปแล้วเสร็จ ใน 5 ปีแรก เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาในการกำกับดูแล และติดตามกลไกการปฏิรูปประเทศให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปที่วางไว้

“กฎหมายที่มองว่ากำลังมีปัญหามากที่สุดขณะนี้คือกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ไขเรื่องรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ซึ่งความรู้เรื่องดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนว่าการทำงานของรัฐบาล การทำโครงการแต่ละอย่างอาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการแก้ไขปัญหาคือการใช้วิธีศึกษาที่ได้รับการยอมรับตามหลักสากล ซึ่งการทำอีไอเอเป็นกรอบว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร ดังนั้นจะทำให้ถูกต้องอย่างไรต้องไปคิดต่อแต่ที่ผ่านมาเกิดการไม่ยอมรับอีไอเอ เพราะการทำงานไม่เป็นไปอย่างมืออาชีพผลที่ออกมาจึงมีปัญหา ทั้งนี้รายงานอีไอเอชี้ให้เห็นผลดีผลเสีย จึงต้องพูดคุยกันต่อว่าใครจะมีอำนาจการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ และหากทำแล้วเกิดผลเสียมากกว่าผลดีกับสิ่งแวดล้อมคนที่ตัดสินใจต้องรับผิดชอบ และคนที่ได้รับความเสียหาย หรือเป็นผู้ที่เสียสละในส่วนนี้ภาครัฐจะต้องเยียวยาให้เขามีชีวิตที่ดีกว่าเดิม” นายเธียรชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น