เปิด “แผนบูรณาการบริหารกลุ่มจังหวัดแบบใหม่” กำหนด 6 ภาค ก่อนยกเลิก 18 กลุ่มจังหวัด ใช้บังคับหลังงบรายจ่ายจังหวัดปี 2562 ประกาศใช้ พร้อมกำหนดจังหวัดเป็น “ศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด” ตามระเบียบฯให้นายกฯ นั่งประธาน ก.บ.ก. ตามกรอบแบบใหม่ มีอำนาจกำกับงบฯ/วางระบบจังหวัดก่อนเสนอ ครม. เผย มท.ตั้งกรอบงบปี 62 บูรณาการ 76 จังหวัด 6 กลุ่มใหม่ แล้ว! วงเงินรวมกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท
วันนี้( 8 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเร็วๆนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) เห็นชอบตามคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ให้ แต่งตั้งกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานเซิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เรื่อง การจัดตั้งกลุ่มจังหวัดและ กำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด (ฉบับที่ 3) ให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดทราบ
ทั้งนี้ เพื่อให้การแต่งตั้งคณะกรรมการ ก.บ.ก. ขึ้นมารองรับ การบริหารงานของกลุ่มจังหวัดที่ได้รับการจัดตั้งใหม่ ตามประกาศดังกล่าว โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มจังหวัด เสนอชื่อรองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เป็น ศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัดตามที่เห็นสมควรจำนวนหนึ่งคน ส่งให้กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งแต่งตั้งภายในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ โดยคำสั่งดังกล่าวกำหนดกลุ่มจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการ ประกอบด้วย
1. กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2. กลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล จังหวัดนครปฐม 3. กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 จังหวัดราชบุรี 4. กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 5. กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จังหวัดภูเก็ต 6. กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน จังหวัดยะลา 7. กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 จังหวัดชลบุรี และ 8. กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2 จังหวัดปราจีนบุรี
ตั้ง ก.บ.ก. นายกฯประธาน บริหารงานเชิงพื้นที่งบฯ ภาค/จังหวัด/กลุ่มจังหวัด
มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามใน ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศฯ 3 ฉบับ ประกอบด้วย ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการ ก.บ.ก. มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการ ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีทุกคน ,รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ,รมว.มหาดไทย ,ปลัดมหาดไทย ,ผอ.สำนักงบประมาณ ,เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ,ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งหนึ่งคน
ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ,ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ,ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ,ประธานสมาคมธนาคารไทย ,ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ,ผู้แทนภาคประชาสังคมหรือประชารัฐที่นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งไม่เกินสองคน ,ผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสองคน และ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)
มีหน้าที่และอำนาจ 1. กำหนดกรอบนโยบายและวางระบบในการบริหารงานภาคกลุ่มจังหวัดและจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อให้สามารถบริหารงานแก้ไขปัญหา และพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและ ตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ได้รับประโยชน์สูงสุด 2.กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาภาค แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด การจัดทำและบริหารงบประมาณจังหวัด งบประมาณกลุ่มจังหวัด และงบประมาณของส่วนราชการ ที่จะดำเนินการตามแผนพัฒนาภาค
3.บูรณาการแผนของส่วนราชการและแผนพัฒนาระดับพื้นที่ เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนในพื้นที่ของกระทรวง กรม สอดคล้องกับศักยภาพหรือประเด็นปัญหาในพื้นที่และเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาล 4.ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาภาค แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด คำของบประมาณของจังหวัด กลุ่มจังหวัด และงบประมาณของส่วนราชการที่จะดำเนินการตามแผนพัฒนาภาค ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
ยกเลิก 18 กลุ่มจังหวัด เป็นกลุ่ม 6 ภาค กำหนดจังหวัดเป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด
ฉบับที่ 2 ประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการบริหารงบประมาณจังหวัดและงบประมาณกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด
ฉบับที่ 3 ประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เรื่อง การจัดตั้งกลุ่มจังหวัดและกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด โดย การจัดตั้งกลุ่มจังหวัดและกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด จำนวน 6 ภาค และกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ภาคกลาง ประกอบด้วย (1) กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดชัยนาท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง โดยให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด (2) กลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล ประกอบด้วย จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรปราการ โดยให้จังหวัดนครปฐมเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด (3) กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ประกอบด้วย จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี โดยให้จังหวัดราชบุรีเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด (4) กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ประกอบด้วย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรสาคร โดยให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด
ข้อ 2 ภาคใต้ ประกอบด้วย (1) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา โดยให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์ปฏิบัติการ ของกลุ่มจังหวัด (2) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง และจังหวัดสตูล โดยให้จังหวัดภูเก็ตเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด
ข้อ 3 ภาคใต้ชายแดน ประกอบด้วย (1) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา โดยให้จังหวัดยะลาเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด
บังคับใช้พร้อมงบรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
ข้อ 4 ภาคตะวันออก ประกอบด้วย (1) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง โดยให้จังหวัดชลบุรีเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด (2) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2 ประกอบด้วย จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว โดยให้จังหวัดปราจีนบุรีเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด
ข้อ 5 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย (1) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานี โดยให้จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด (2) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดสกลนคร โดยให้จังหวัดสกลนครเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด
(3) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ประกอบด้วย จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ด โดยให้จังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด (4) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ประกอบด้วย จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ โดยให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด (5) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี โดยให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด
ข้อ 6 ภาคเหนือ ประกอบด้วย (1) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน โดยให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด (2) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา และจังหวัดแพร่ โดยให้จังหวัดเชียงรายเป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด
(3) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ประกอบด้วย จังหวัดตาก จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นศูนย์ปฏิบัติการ ของกลุ่มจังหวัด (4) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิจิตร และจังหวัดอุทัยธานี โดยให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด
ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับกับการดำเนินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
กรอบงบปี 62 บูรณาการ 76 จังหวัด 6 กลุ่มใหม่ รวม 5.6 หมื่นล้านบาท
มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้ประชุมกำหนดกรอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ในส่วนภูมิภาค โดยพบว่า เบื้องต้นกลุ่มจังหวัดได้เสนอของบประมาณมา รวมทั้งสิ้น 56,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณกลุ่มจังหวัด 16,800 ล้านบาท และงบประมาณจังหวัด 39,200 ล้านบาท ดังนี้ กลุ่มและจังหวัดภาคกลางตอนบน รวม 4,008,588,000 บาท กลุ่มและจังหวัด ภาคกลางปริมณฑล รวม 3,077,123,200 บาท กลุ่มและจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 รวม 2,377,829,600 บาท
กลุ่มและจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 รวม 2,669,768,600 บาท กลุ่มและจังหวัดภาคตะวันออก 1 รวม 2,479,778,800 บาท กลุ่มและจังหวัดภาคตะวันออก 2 รวม 3,175,407,800 บาท กลุ่มและจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย รวม 3,680,417,400 บาท กลุ่มและจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน รวม 3,765,245,000 บาท กลุ่มและจังหวัดภาคใต้ชายแดน รวม 2,257,980,000 บาท
กลุ่มและจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 รวม 3,557,057,600 บาท กลุ่มและจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 รวม 2,234,699,400 บาท กลุ่มและจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง รวม 3,375,682,200 บาท กลุ่มและจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 รวม 3,520,258,000 บาท กลุ่มและจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 รวม 3,147,205,200 บาท
กลุ่มและจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 รวม 3,115,524,000 บาท กลุ่มและจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 รวม 3,039,431,000 บาท กลุ่มและจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 รวม 3,642,600,400 บาท และกลุ่มและจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 รวม 2,875,403,800 บาท.