xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 2 ร่าง สภาพัฒน์ ชง ครม.สัญจร “พัฒนาภูมิภาคด้ามขวาน” - ขยายผลเมืองต้นแบบชายแดน “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิด 2 ร่าง “พัฒนาภูมิภาคด้ามขวาน” สภาพัฒน์ ชง ครม. สัญจร ชู “รักษาชื่อเสียง” การท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมกันไปกับการพัฒนาทุกภาคส่วนให้เป็นมาตรฐานสากล ดัน “แปรรูปเกษตรควบคู่การอนุรักษ์ - เชื่อมโยงการค้า/ลงทุน กับภูมิภาคอื่นทั่วโลก ส่วน “การพัฒนาชายแดน” เน้นขยายผลเมืองต้นแบบ“สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

วันนี้ (26 พ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ที่ จ.สงขลา (ครม.สัญจร) ในวันที่ 28 พ.ย. นี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เตรียมเสนอ ร่างทิศทางการพัฒนาภาคใต้ และร่างทิศทางการพัฒนาภาคใต้ชายแดน

โดย ร่างทิศทางการพัฒนาภาคใต้ ตามกรอบแนวคิด ภาคใต้มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลก และแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสามารถสร้างรายได้ให้กับภาคทั้งพื้นที่ตอนในและชายฝั่งทะเลทั้งสองด้าน รวมทั้งมีระบบนิเวศชายฝั่งที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติและเหมาะ กับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ในขณะที่การผลิตภาคเกษตร ได้แก่ ยางพารา และ ปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นแหล่งผลิตและแปรรูปที่สำคัญของประเทศยังเป็นแบบดั้งเดิม

นอกจากนี้ ภาคใต้มีความได้เปรียบด้านสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้เส้นทาง การค้าโลก สามารถเชื่อมโยงการพัฒนากับพื้นที่ภาคอื่นๆ ของประเทศ รวมทั้งภูมิภาคเอเชียใต้ และ เอเชียตะวันออก มีเป้าหมาย ให้ภาคใต้เป็นเมืองท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศระดับโลก เป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมันของประเทศ และเมืองเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับภูมิภาคอื่นของโลก

“ดังนั้น การพัฒนาภาคใต้ควรพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นมาตรฐานสากล เพื่อรักษาความมีชื่อเสียงของแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมกับพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต และแปรรูปภาคเกษตรควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาการเชื่อมโยงการค้า การลงทุน กับภูมิภาคต่างๆ ของโลก”

สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนา ประกอบด้วย 1. พัฒนาการท่องเที่ยวของภาคให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว คุณภาพชั้นนำของโลก 2. พัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งใหม่ของประเทศ 3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยว และ 4. การพัฒนาเขตอุตสาหกรรม และการเชื่อมโยงการค้าโลก

รักษาชื่อเสียง “ภูเก็ต สมุย พะงัน หลีเป๊ะ”- ดัน Monorail ภูเก็ต

ทั้งนี้ แผนพัฒนาการท่องเที่ยวของภาคให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว คุณภาพชั้นนำของโลก ประกอบด้วย 1. ยกระดับคุณภาพบริการ และส่งเสริมธุรกิจต่อเนื่องในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของภาค เช่น ภูเก็ต สมุย พะงัน และ หลีเป๊ะ เป็นต้น โดยคำนึงความสามารถในการรองรับของพื้นที่ (Carrying Capacity) อย่างยั่งยืน 2. พัฒนาและสนับสนุนรูปแบบการท่องเที่ยวเรือสำราญ และการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เพื่อการ ท่องเที่ยวของภาคไปสู่แหล่งท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก

3. พัฒนาเมืองท่องเที่ยวหลัก (ภูเก็ต) ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และมีระบบขนส่งมวลชน (Monorail) เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการนักท่องเที่ยว 4. พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบนบกบริเวณตอนในของภาค อาทิ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช และแหล่งท่องเที่ยวชายหาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำแห่งใหม่ เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงทั้งด้านตะวันตกและตะวันออกของภาค และเขต The Royal Coast ของภาคกลาง

5. พัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยวสำคัญของภาค อาทิ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ สปา (ระนอง กระบี่ สตูล สุราษฎร์ฯ และ พัทลุง) ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีฯ เมืองเก่า จ.สงขลา และ ตะกั่วป่า จ.พังงา) และ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Satun Geo Park) การท่องเที่ยวผจญภัย (พัทลุง นครศรีฯ และ สุราษฎร์ฯ) และการท่องเที่ยวเชิงกีฬา และ 6. ส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เข้มแข็งและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่เพื่อเป็นแหล่ง สร้างอาชีพใหม่และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

ผุดเขตอุตฯแปรรูปยางหาดใหญ่-สะเดา / เขต OLO เคมีครบวงจร กระบี่ สุราษฎร์ฯ ชุมพร

แผนพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งใหม่ของประเทศ ประกอบด้วย 1. พัฒนาเขตพื้นที่อุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราหาดใหญ่ - สะเดา ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเชื่อมโยงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและนิคมอุตสาหกรรมยาง (Rubber City) ให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน 2. พัฒนาเขตอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีแบบครบวงจร จ.กระบี่ สุราษฎร์ฯ และ ชุมพร เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของภาค 3. พัฒนาและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรมการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพ และแปรผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อาทิ เครื่องสำอาง ยาสมุนไพร เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปภาคเกษตร

แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยว ประกอบด้วย 1. ส่งเสริมการทำการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ของเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน 2. ส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต และบริหารจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นเกษตรกร มืออาชีพ (Smart Farmer) 3. ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์และเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ของภาค เช่น ข้าว ไม้ผล และ ปศุสัตว์ ให้เป็นสินค้ามูลค่าสูงและ ได้มาตรฐานส่งออก 4. ยกระดับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำชายฝั่งให้เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม และได้มาตรฐานสุขอนามัยและเป็นไปตามกฎกติกาสากล

ถนนเลียบอ่าวไทย / รถไฟเชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย / รถไฟฟ้าหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์

แผนการพัฒนาเขตอุตสาหกรรม และการเชื่อมโยงการค้าโลก ประกอบด้วย 1. พัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำแห่งใหม่กับ แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง อาทิ พัฒนาถนนเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยสายชุมพร - สุราษฎร์ - นครศรีฯ - สงขลา เชื่อมโยงกับสาย The Royal Coast ของภาคกลาง 2. พัฒนาเส้นทางรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวเชื่อมโยงฝั่งอันดามันและอ่าวไทย (สายท่านุ่น - พังงา - พุนพิน - ดอนสัก) (สายระนอง - ชุมพร) (สายระนอง - พังงา - กระบี่ -ตรัง) 3. พัฒนาและสนับสนุนท่าเรือสำราญในจังหวัดภูเก็ตให้เป็นท่าเรือหลัก (Homeport) ของโลก รวมทั้งพัฒนาท่าเรือแวะพัก (Port of Call) และท่าเรือมารีน่าให้มีมาตรฐานในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีศักยภาพของภาค (กระบี่ พังงา สมุย)

4. พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมแปรรูปยาง หาดใหญ่ - สะเดา อาทิ รถไฟฟ้าหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์, ทางหลวงพิเศษ (Motorway) หาดใหญ่ - ด่านพรมแดนสะเดา, รถไฟทางคู่ชุมพร - สุราษฎร์ฯ - หาดใหญ่ และพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าทุ่งสง ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และ 5. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงภาคใต้กับเส้นทางการค้าโลก อาทิ การพัฒนาท่าเรือ ชายฝั่งอันดามัน สนามบินภูเก็ต และโครงข่ายรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือสงขลา 2 -หาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ - บัตเตอร์เวอร์ธ (มาเลเซีย)

แผนพัฒนาภาคใต้ชายแดน พัฒนาควบคู่พัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซีย / สิงคโปร์

สำหรับร่าง ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ชายแดน ภายหลังรัฐบาลมีโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร อ.หนองจิก การพัฒนาด้านการค้าและการท่องเที่ยว อ.สุไหงโก-ลก และ อ.เบตง เพื่อสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชน

“ดังนั้น การพัฒนาภาคใต้ชายแดน จึงควรมุ่งการพัฒนาขยายผลการดำเนินโครงการเมืองต้นแบบ โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร พัฒนาเมืองชายแดนให้เป็นเมือง การค้าและท่องเที่ยว ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน”

สำหรับเป้าหมายให้เป็นแหล่งผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สำคัญของประเทศ และเป็นเมืองชายแดนเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวกับ พื้นที่ภาคใต้และการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย และ สิงคโปร์ ทั้งนี้ มียุทธศาสตร์การพัฒนา ประกอบด้วย 1. พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรเพื่อความมั่นคงให้กับภาคการผลิต 2. พัฒนาเมืองสุไหงโก-ลก และเมืองเบตง ให้เป็นเมืองการค้าและเมืองท่องเที่ยวชายแดน และ 3. เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

โดยแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรเพื่อความมั่นคงให้กับภาคการผลิต ประกอบด้วย 1. พัฒนาพื้นที่ อ.หนองจิก ต่อเนื่อง อ.เมืองปัตตานี ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมเกษตร แปรรูปปาล์มน้ำมัน ยางพารา มะพร้าว และอุตสาหกรรมแปรรูปประมงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้เป็นแหล่งรายได้ให้กับภาค 2. พัฒนาและส่งเสริมการขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา มะพร้าว พืชและผลไม้ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร

3. พัฒนาและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรมในการ เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก รวมทั้งการทำปศุสัตว์ และประมง เพื่อเพิ่มผลผลิต และคุณภาพ ตลอดจนแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่การผลิตให้กับภาคการเกษตร 4. ส่งเสริมการสร้างตราสินค้าผลผลิตทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงของภาค และ 5. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ อาทิ การพัฒนาท่าเทียบขนส่งสินค้าชายฝั่งและท่าอากาศยานปัตตานี

แผนพัฒนาสุไหงโก-ลก /เบตง - ผุด “สนามบินเบตง”- ฟื้นท่องเที่ยวป่าบาลา-ฮาลา

แผนพัฒนาเมืองสุไหงโก-ลก และ เมืองเบตง ให้เป็นเมืองการค้าและเมืองท่องเที่ยวชายแดน ประกอบด้วย 1.พัฒนาด่านชายแดนเพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งสินค้าและการเดินทางข้ามแดน อาทิ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 และ สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่ด่านตากใบ เร่งรัดโครงการพัฒนาด่านบูเก๊ะตา ระยะที่ 2 และจัดหาที่ดินรองรับการพัฒนาด่านฯ ระยะที่ 3

2. พัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์เชื่อมโยงเมืองชายแดน (สุไหงโก-ลก และ เบตง) อาทิ ยกระดับมาตรฐานเขตทาง (เมืองนราธิวาส - สุไหงโก-ลก) และขยายช่องทางจราจร (เมืองยะลา - เบตง) การปรับปรุงท่าอากาศยานนราธิวาส และเร่งรัด การก่อสร้างสนามบินเบตง และการเชื่อมต่อการเดินรถไฟข้ามพรมแดนประเทศมาเลเซีย 3. พัฒนาและส่งเสริมธุรกิจการค้าชายแดน อาทิ การจัดหาที่ดินรองรับการพัฒนาการ ค้าชายแดน และการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตร

4. พัฒนาการท่องเที่ยวของภาคใต้ชายแดนให้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ อาทิ การ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวป่าบาลา - ฮาลา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และ 5. ส่งเสริมความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนของภาคกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจด้านตะวันออกของประเทศมาเลเซีย

แผนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ประกอบด้วย 1. พัฒนาและสนับสนุนทักษะฝีมือแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและเมืองการค้าและเมืองท่องเที่ยวชายแดน 2. ส่งเสริมการให้ความรู้และความเข้าใจในการดูแลอนามัยแม่และเด็ก 3. สนับสนุนการรวมกลุ่มในชุมชนเพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตสินค้าและบริการ อาทิ สินค้า OTOP สินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น อาหารและบริการฮาลาล และกลไกประชารัฐเพื่อเชื่อมโยง ตลาดการท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกภาค และ 4. ส่งเสริมและสนับสนุนการอยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรมเพื่อสร้างความ เข้มแข็งชุมชน และอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติ



กำลังโหลดความคิดเห็น