ฝ่ายกฎหมาย มท.ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม เมืองนครราชสีมา พ.ศ. ... (ปรับปรุงครั้งที่ 3) พื้นที่ 328.44 ตร.กม. หรือ 205,275 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอ ก่อนเสนอ มท.1 ดันเข้า ครม.ตั้งข้อสังเกต หากดัน “นครราชสีมา” เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าของกลุ่มจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และให้คงไว้ซึ่งการอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์ ต้องร่างผังให้มีลักษณะเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง
วันนี้ (23 พ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฏหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 2 เห็นชอบร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา พ.ศ... (ปรับปรุงครั้งที่ 3) โดยให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีท้ายกฎกระทรวงฯ แผนที่ท้ายกฎกระทรวงฯ แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินฯ แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนล่ง และรายการประกอบแผนผังของร่างกฎกระทรวงฯ อีกครั้ง แล้วจึงดำเนินการเสนอร่างกฎกระทรวงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีความเห็นต่อร่างที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเสนอ โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้ 1. การกำหนดวิสัยทัศน์ของผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา เพื่อให้เมืองนครราชสีมา เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าของกลุ่มจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และให้คงไว้ซึ่งการอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์ เห็นว่า การเขียนเป้าหมายในลักษณะนี้มีเนื้อความที่บ่งบอกไปในทำนองที่ไม่สอดคล้องกัน ควรเขียนเป้าหมายเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อให้ผังมีลักษณะเฉพาะ และ 2. ระยะเวลาในการจัดทำผังนับจากวันที่ทำการสำรวจจนถึงวันที่มีการประกาศใช้ผังเมืองรวมใช้ระยะเวลานาน ดังนั้น ผังเมืองรวมที่ประกาศใช้บังคับอาจจะไม่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
มีรายงานว่า ร่างผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา ฉบับล่าสุดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินการปรังปรุงผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา (ปรับปรุงครั้งที่ 2) พื้นที่วางผัง 328.44 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 205,275 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ 27 ตำบล 16 เทศบาล และ 140 องค์การบริหารส่วนตำบล โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518
“มีสำรวจและประเมินผลผังเมืองรวม ตั้งแต่ปี 2552 ก่อนจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการผังเมืองและที่ปรึกษาฯ เมื่อปี 2553 ถึงปี 2558 ถึง 15 ครั้ง โดยระหว่างนั้นมีการปิดประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบ เมื่อครบกำหนดแล้วปรากฏว่ามีผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้อง จำนวน 36 เรื่อง 213 ฉบับ 126 ราย โดยเป็นคำร้องด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวน 13 เรื่อง 16 ฉบับ 25 ราย 11 บริเวณ และเป็นคำร้องด้าน ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวน 23 เรื่อง 187 ฉบับ 111 ราย”
ต่อมา ปี 2558 ประชุมคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา มีมติที่ประชุม ยกคำร้องทั้ง 2 เรื่อง และที่ประชุมคณะกรรมการผังเมืองเพื่อพิจารณาคำร้อง ด้านการใช้ประโยชน์ มีมติให้ตามคำร้อง 1 เรื่อง ยกคำร้อง 12 เรื่อง และคำร้องด้านข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีมติให้ยกคำร้องบางส่วน 2 เรื่อง และยกคำร้อง 21 เรื่อง เพื่อให้มีการประกาศกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา จึงได้จัดทำผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา พ.ศ. ...
ทั้งนี้ ฉบับแรก ผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา สิ้นสุดการบังคับใช้ พ.ศ. 2534 ต่อมามีการปรับปรุงครั้งที่ 1 ประกาศเป็นกฎกระทรวง และสิ้นสุดการบังคับใช้ พ.ศ. 2539 และได้ขยายระยะเวลาบังคับใช้ผัง ครั้งละ 1 ปี จำนวน 2 ครั้ง โดยสิ้นสุดการใช้บังคับ พ.ศ. 2541 ก่อนทำการปรับปรุงครั้งที่ 2 และประกาศใช้บังคับ พ.ศ. 2547 ถึง พ.ศ. 2552 และได้ขยายระยะเวลาครั้งละ 1 ปี จำนวน 2 ครั้ง โดยสิ้นสุดการใช้บังคับเมื่อ พ.ศ. 2554 ก่อนที่กรมโยธาธิการและผังเมืองจะถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อ พ.ศ. 2558
มีรายงานว่า สำหรับผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา (ปรับปรุงครั้งที่ 3) บริเวณใจกลางเทศบาลเมืองนครราชสีมาได้วางผังเมืองให้เป็นเขตเพื่อการพาณิชยกรรมและเป็นพื้นที่หนาแน่นมาก (สีแดง) จะเป็นทำเลที่มีความเจริญมากที่สุด และบริเวณรอบนอกเทศบาลเมืองนครราชสีมาเกาะเส้นถนนมิตรภาพจะเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) สำหรับบริเวณพื้นที่หนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ ตำบลปรุใหญ่ ตำบลจอหอ ตำบลหัวใหญ่ และตำบลทะเลสอ จากผังเมืองจะทำให้เห็นแนวโน้มของการขยายตัวของเมืองนครราชสีมาบริเวณแนวถนนมิตรภาพเป็นหลักและแผ่กระจายออกไปรอบนอกมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการขนาดใหญ่ก็จะเกาะอยู่บริเวณถนนมิตรภาพเช่นกัน
ทั้งนี้ รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายในการพัฒนาให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการลงทุน นอกจากนั้นข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ยังมีการเพิ่มเติมข้อกำหนด เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา พ.ศ. 2547 ในบริเวณพื้นที่กลางใจเมืองนครราชสีมา กล่าวคือ ได้มีการกำหนดให้ที่ดินบริเวณหมายเลข 9.1 ถึงหมายเลข 9.6 ให้เป็นพื้นที่สีน้ำตาลอ่อน โดยเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งเดิมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา พ.ศ. 2547 ได้กำหนดพื้นที่บริเวณดังกล่าวจะเป็นที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง)
“ที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ดังกล่าวทำให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบหลายประการ ประกอบกับยังมีประชาชนจำนวนมากยังไม่ทราบข้อมูลรายละเอียดเหตุผลของการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว”