xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค-สุวัจน์” ให้ข้อมูล กก.ปฏิรูปการเมือง แนะสร้างแผนเฉพาะหน้าให้รู้ทิศทางเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เอนก” พอใจหลังฟังความเห็นนักการเมือง คุย “นิกร-อนุทิน” เห็นพ้องปฏิรูปสร้างเลือกตั้งเรียบร้อย “สุวัจน์” ชง 6 ปมปฏิรูป จี้พรรคฯ แสดงเจตนาลงแข่งขัน ยอมรับผล “อภิสิทธิ์” ชงสร้างแผนเฉพาะหน้า ให้รู้การเมืองที่ปรารถนา-ทิศทางเลือกตั้งไปทางไหน จี้ คสช.ทบทวน 3 ปีที่ผ่านมา ถก กกต.จริงจังปมเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกตั้งใหญ่ แนะทางออกไม่ต้องแก้ พ.ร.ป.พรรคฯ

วันนี้ (22 พ.ย.) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ได้มีการเชิญนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในการจัดแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เป็นวันที่ 3 โดยนายเอนกกล่าวว่า จากการให้ข้อมูลของนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ต่างก็เห็นด้วยกับ 5 ประเด็นในร่างแผนปฏิรูปและเห็นว่าควรจะเน้นเรื่องการสร้างสันติสุข เพราะถ้าทำสิ่งนี้ได้การเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมก็จะตามมา และเมื่อคณะกรรมการฯ ได้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เชิญมาทั้งหมดแล้วก็จะทำเปิดรับฟังความเห็นประชาชน แม้ประชาชนอาจรู้สึกเบื่อเพราะให้ความเห็นกับหน่วยงานต่างๆ มาแล้วก็ตาม แต่ทางคณะกรรมการฯก็จะพยายามนำความเห็นมาเรียบเรียงเพื่อจัดทำเป็นแผน โดยทุกอย่างจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. 2561 อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้มองว่าข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนี้จะไปซ้ำกับของคณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. เพราะข้อเสนอของ ป.ย.ป.ส่วนใหญ่เน้นเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสามัคคีและปรองดอง แต่ในส่วนของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ จะเน้นว่าในเรื่องของการปฏิรูปการเมืองว่าคุณอยากเห็นบ้านเมืองในวันข้างหน้าอย่างไร และถ้าได้เข้าไปเป็นรัฐบาลมีความคิดในเรื่องของการปฏิรูปการเมืองอย่างไร

ด้านนายสุวัจน์กล่าวว่า ได้ให้ข้อเสนอแนะใน 6 ประเด็น 1. ต้องสร้างนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างบรรยากาศที่จะดึงนักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามา 2. ส่งเสริมบทบาทของพรรคการเมืองให้มีความเข้มแข็ง โดยพรรคการเมืองอนาคตควรเป็นพรรคขนาดกลางที่เหมาะสมกับโครงกสร้างทางกาเรมืองที่เปลี่ยนไปในขณะนี้ เพื่อทำให้การเมืองไม่เกิดเดดล็อก 3. สร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้ประชาชนเป็นโหวตเตอร์ที่มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพ เพื่อจะได้มาตัดสินใจในการเลือกผู้แทนที่ดีในขั้นตอนสุดท้าย 4. ร่วมสร้างวัฒนธรรทางการเมืองให้เกิดขึ้น ให้นักการเมืองมีสปิริตรู้แพ้ รู้ชนะรู้อภัย เหมือนกับต่างประเทศที่จะมีสปิริตยอมรับผิดชอบเมื่อทำผิด

5. แก้ไขปัญหาความขัดแย้งก่อนการเลือกตั้ง ทำอย่างไรจะแก้ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ เป็นไปได้หรือไม่ที่ทุกพรรคการเมือจะมุ่งมั่น ตั้งใจความร่วมมือแก้ปัญหา เพื่อจะเข้าสู่การเลือกตั้ง และเคารพผลการเลือกตั้ง ไม่สร้างเขื่อนไขที่จะนำไปสู่เดดล็อคทางการเมือง และนำบ้านเมืองกลับสู่ความขัดแย้งอีก 6. การกระจายอำนาจ ทำอย่างไรที่จะให้ท้องถิ่นสามารถใช้ทรัพยากรในพื้นที่สร้างความมั่งคั่งให้กับท้องถิ่นเอง เช่นอาจให้มีรายได้จากวิสาหกิจชุมชนเพิ่มจากที่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษี หรือเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นมากชึ้นเพื่อให้เขามีศักยภาพในการรองรับโครงการภาครัฐ

ส่วนในเรื่องของการปรองดองเป็นเรื่องดี การทำก่อนหรือหลังถือเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศการเมืองให้เรียบร้อย ซึ่งในส่วนของการทำงานก็มี ป.ย.ป.ทำงานอยู่ แต่ถ้านักการเมืองด้วยกันเองสามารถที่จะส่งสัญญาณการปรองดองให้ชัดเจน เช่น สามารถมีไมตรีต่อกัน ให้ความร่วมมือกัน ยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ ถ้าทุกคนนึกถึงจุดนี้ว่าปรองดองกันได้ก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่เรียบร้อย

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องให้พรรคการเมืองลงสัตยาบันเพื่อยอมรับผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหรือไม่ นายสุวัจน์กล่าวว่า เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่จะแสดงความตั้งใจออกมาก็ได้ หรือถ้ามีเวทีแล้วให้แต่ละพรรค แต่ละคนไปแสดงเจตนาออกมาก็ได้ ก็จะทำให้ประชาชนสบายใจ และเกิดบรรยากาศที่ดี

ทั้งนี้ นายสุวัจน์ ยังกล่าวถึงการการแจ้งเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรคตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองของพรรคชาติพัฒนา ว่า ผู้เกี่ยวข้องคงเตรียมกัน ทางพรรคยังไม่ได้พูดคุยอะไร เพราะคงต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่มีอยู่ในขณะนี้ แต่อย่าง กกต.ที่มีหน้าที่ก็ต้องเตรียมการไป เมื่อทุกอย่างคลี่คลายก็คงได้มีการดำเนินการซึ่งเชื่อว่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับกรอบที่คณะกรรมการฯ ได้วางไว้ แต่ได้เสนอแนะเพิ่มเติม ในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วนที่ควรจะทำแม้ว่าแผนดังกล่าวจะหวังผลใน 5 ปี แต่เมื่อเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนการเลือกตั้ง บางเรื่องควรใช้ความไม่ปกติเป็นตัวนำในการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เช่น มีแผนเฉพาะหน้าว่าการแข่งขันเพื่อที่จะเข้าสู่การเมือง ควรอยู่ในขอบเขตไหน อะไรในอดีตที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต สิ่งเหล่านี้ควรต้องพิจารณาเพื่อให้สอดคล้องเมื่อมีการผ่อนคลายทางการเมืองและเข้าสู่การเลือกตั้ง มาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอะไรที่ควรให้เกิดขึ้นก็ควรทำ จะได้เห็นว่าการเมืองที่เราปรารถนามีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราไม่มีแผนในขณะนี้เลยก็เหมือนเราอยู่ในสภาวะไม่ปกติ เลือกตั้งแล้วก็ไม่รู้จะไปในทิศทางไหน

“ที่เน้นมาตลอดการเมืองจะเปลี่ยนวัฒนธรรมการเมือง ที่ผ่านมาเราใช้เวลาไปมากกับการร่างกฎหมาย แต่วัฒนธรรมการเมือง ถ้าไม่เอามารยาทเข้ามามากกว่ากฎกติกาก็เปลี่ยนยาก เวลานี้ถ้าถามว่าพร้อมเลือกตั้งหรือไม่ มันยากที่จะรู้ว่าพร้อมไม่พร้อม เพราะเรายังไม่รู้พฤติกรรมของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะนักการเมือง เป็นอย่างไร แต่มันจะชัดเจนเมื่อให้พรรคการเมืองเดินหน้าปฏิรูปตามกฎหมายใหม่ ตามความคิดของแต่ละพรรคว่าเขาจะเปลี่ยนตัวเองอย่างไร”

นายอภิสิทธิ์ยังเห็นว่า ที่ผ่านมายังไม่ค่อยเห็นการมาทำความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง คสช. พรรคการเมือง เอ็นจีโอ สื่อมวลชน ว่าปัญหาที่ผ่านมาคืออะไร ที่ผ่านมา คสช.จะใช้วิธีการเชิญคนไปทั้งปรับทัศนคติและขอความเห็น แต่ไม่เคยมีในลักษณะของการแลกเปลี่ยน ทุกคนจะรู้เมื่อท่านออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว กลายเป็นว่าสิ่งที่เรารู้รู้แต่ความเห็นตัวเอง และเมื่อไม่มีการแลกเปลี่ยนก็หาจุดร่วมไม่ได้ ทำให้ความเข้าใจเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งเป็นอย่างนี้มา 3 ปี คสช.ควรมีการทบทวน เพราะถ้าย้อนไปถามใครก็จะไม่มีใครตอบได้เลยว่าปฏิรูปแล้วจะไปในทิศทางใด

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวชอบคุณนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่รับฟังข้อเสนอขอตนเองว่าควรพิจารณาเรื่องการปฏิรูปปรับโครงสร้างของท้องถิ่นก่อนตัดสินใจให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะเลือกตั้งไปตามกฎหมายเดิมก่อนแล้วมาแก้ไขปรับโครงสร้างซึ่งก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งข้อเสนอที่จะสะสางมาตรา 44 ที่ใช้กับผู้บริหารท้องถิ่น ใครที่ผิดก็ลงโทษไปตามกฎหมาย แต่ใครที่ไม่ผิดก็ควรคืนตำแหน่งให้เขาเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง ที่สำคัญเห็นว่าควรต้องหารือกับ กกต. เพราะต้องรับภาระหนัก “ควรหารือกับ กกต.เอาภารกิจหลักของ กกต.คือ การจัดการเลือกตั้งระดับชาติ ถามเขาว่าถ้าต้องมาจัดเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน จะเป็นปัญหาเขาไหม และ กกต.ก็ควรพูดความจริงอย่าเกรงใจกันว่า ถ้า กกต.บอกว่าต้องทำแบ่งเขต ทำเรื่องไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองด้วยไม่มีปัญหาเลยถ้าจะจัดท้องถิ่น ก็เอา แต่ถ้าเห็นว่าเป็นอุปสรรคภาระงานเยอะรัฐบาลก็ควรรับฟัง เพราะสิ่งที่เราต้องการคือการทำให้การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรมได้คนดีมันสำคัญกว่า”

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการแจ้งเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลสมาชิกพรรค ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ว่าขณะนี้กำลังรอสำนักงาน กกต.คุยกับสำนักทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทย ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เห็นว่าแนวนี้ทางนี้เป็นแนวทางที่ง่ายที่สุด เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิก 2 ล้าน 8 แสนคน การจะให้พรรคไปตรวจสอบว่าสมาชิก อยู่ที่ไหน ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ต้องอาศัยเวลา และค่าใช้จ่ายมาก แต่ถ้าให้สำนักงานทะเบียนราษฎรยืนยันตัวตนมา ก็จะทราบได้ทันที และไม่ต้องมีใครไปติดคุก ไม่ไปละเมิดสิทธิใคร รวมทั้งใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ก็แล้วเสร็จ ก็จะทันในกรอบเวลา 90 วันตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ต้องไปแก้กฎหมายลูก








กำลังโหลดความคิดเห็น