xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ปูด 3 ร่าง กม.สอดรับ หลังลดรัฐวิสาหกิจเป็น 2 ชั้น เอื้อบริษัทลูกพ้นรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีต รมว.คลัง ปูด ร่าง กม. ที่สอดรับกันอย่างแยบยล 3 ฉบับ หลัง รัฐวิสาหกิจ กำลังจะถูกแก้จากครอบคลุม 4 ชั้น ตัดเหลือเพียง 2 ชั้น พอเชื่อมร่าง กม. 3 ฉบับ เข้าด้วยกัน บริษัทลูก ปตท. ก็จะหลุดออกไปจากควบคุมโดยระบบงบผ่านรัฐสภา

วันนี้ (14 พ.ย.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อ “การร่างกฎหมายที่สอดรับกันอย่างแยบยล!” โดยระบุถึงร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... มีการสอดรับกับ ร่าง พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. .... อย่างไร

นายธีระชัย ระบุว่าตามความเข้าใจของตน นิยามปัจจุบัน ความเป็น “รัฐวิสาหกิจ” นับ 4 ชั้น ดังนี้

ชั้นที่ 1 : องค์การของรัฐ หรือบริษัท ที่รัฐถือหุ้นเกินร้อยละ 50 (ตัวอย่างเช่น ปตท. ถือเป็นบริษัทแม่)
ชั้นที่ 2 บริษัทลูก : ที่องค์กรของรัฐหรือบริษัทในชั้นที่ 1 (บริษัทแม่) ถือหุ้นเกินร้อยละ 50 (ตัวอย่างเช่น ปตท. ตั้งบริษัทย่อย PTTOR กรณีนี้จะถือว่าบริษัท PTTOR เป็นบริษัทลูก)
ชั้นที่ 3 บริษัทหลาน : ที่บริษัทในชั้นที่ 2 (บริษัทลูก) และหรือชั้นที่ 1 (บริษัทแม่) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 50 (ตัวอย่างเช่นบริษัท PTTOR ตั้งบริษัทย่อยชื่อ PTTOR (A) กรณีนี้จะถือว่าบริษัท PTTOR (A) เป็นบริษัทหลาน)
ชั้นที่ 4 บริษัทเหลน : ที่บริษัทในชั้นที่ 3 (บริษัทหลาน) และหรือชั้นที่ 2 (บริษัทลูก) และหรือชั้นที่ 1 (บริษัทแม่) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 50 (ตัวอย่างเช่นบริษัท PTTOR (A) ตั้งบริษัทย่อยชื่อ PTTOR (BB) กรณีนี้จะถือว่าบริษัท PTTOR (BB) เป็นบริษัทเหลน)

ตามนิยามเดิม ทุกบริษัทข้างต้นถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องควบคุมโดยระบบงบประมาณผ่านรัฐสภา และต้องอยู่ภายใต้หลักวินัยการเงินการคลัง

ส่วนนิยามของ “รัฐวิสาหกิจ” กำลังจะได้รับการแก้ไขใหม่จากเดิมครอบคลุม 4 ชั้น (บริษัทแม่ ลูก หลาน เหลน) ตัดเหลือเพียง 2 ชั้น (บริษัทแม่ ลูก) เท่านั้น ซึ่งจะทำให้บริษัท PTTOR (A) และบริษัท PTTOR (BB) หลุดออกไปจากการควบคุม
แต่เมื่อผนวกกับร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ซึ่งในร่างกฎหมายนี้ที่กำลังพิจารณาอยู่ในชั้นกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เสนอให้จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ลำดับชั้นจะเปลี่ยนไปอย่างแยบยล ดังนี้

ชั้นที่ 1 : องค์การของรัฐ หรือบริษัท ที่รัฐถือหุ้นเกินร้อยละ 50 (ตัวอย่างเช่น ปตท. ต่อไปนี้จะไม่ถือเป็นบริษัทแม่ เพราะบรรษัทจะทำหน้าที่เป็นบริษัทแม่แทน)
ชั้นที่ 2 บริษัทลูก : ที่องค์กรของรัฐหรือบริษัทในชั้นที่ 1 (บริษัทแม่) ถือหุ้นเกินร้อยละ 50 (ตัวอย่างเช่นบรรษัทถือหุ้นใน ปตท. กรณีนี้จะถือว่า ปตท. เป็นบริษัทลูก)
ชั้นที่ 3 บริษัทหลาน : ที่บริษัทในชั้นที่ 2 (บริษัทลูก) และหรือชั้นที่ 1 (บริษัทแม่) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 50 (ตัวอย่างเช่น ปตท. ตั้งบริษัทย่อย PTTOR กรณีนี้จะถือว่าบริษัท PTTOR เป็นบริษัทหลาน)
ชั้นที่ 4 บริษัทเหลน : ที่บริษัทในชั้นที่ 3 (บริษัทหลาน) และหรือชั้นที่ 2 (บริษัทลูก) และหรือชั้นที่ 1 (บริษัทแม่) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 50 (ตัวอย่างเช่นบริษัท PTTOR ตั้งบริษัทย่อยชื่อ PTTOR (A) กรณีนี้จะถือว่าบริษัท PTTOR (A) เป็นบริษัทเหลน)

นายธีระชัย ระบุว่า จะเห็นได้ว่าเมื่อเชื่อมโยงร่างกฎหมายทั้งสามฉบับเข้าด้วยกัน บริษัทที่จะหลุดออกไปจากควบคุมโดยระบบงบประมาณผ่านรัฐสภา และจากหลักวินัยการเงินการคลัง จะเลื่อนขึ้นมาจากเดิมหนึ่งชั้น แค่เป็นบริษัทลูกของ ปตท. เช่น PTTOR ก็หลุดออกไปแล้ว

ขณะเดียวกัน นายธีระชัย ยังโพสต์รูปภาพที่แสดงรายระเอียด พ.ร.บ. งบฯ พร้อมตั้งคำถามว่า เป็น jigsaw ของภาพเดียวกันหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น