xs
xsm
sm
md
lg

“เร่ง ซ่อม สร้าง”?? เปิด 3 ผลสรุปสวยหรู ถก 11 ครั้ง “กรรมการปฏิรูปพลังงาน”-จ่อเดินสาย 4 จังหวัด ฟังความเห็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เร่ง ซ่อม สร้าง”?? เปิด 3 ผลสรุปสวยหรู ประชุม 11 ครั้ง “กรรมการปฏิรูปพลังงาน” จ่อฟังความเห็น กรุงเทพฯ - โคราช - นครสวรรค์ - ระยอง เสนอ “เร่ง” กระจายจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติเหลว - ลดซ้ำซ้อนกฎหมายกำกับธุรกิจพลังงาน - ปรับโครงสร้างหน่วยงานพลังงาน - ปรับปรุงกลไก -
โครงสร้างตลาด - ราคาพลังงาน หวัง “ซ่อม” การสื่อสารข้อมูลกับสาธารณะทุกมิติ พัฒนา “ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ” ที่น่าเชื่อถือ หวัง “สร้าง” รากฐาน/โครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมอุตฯ/เทคโนโลยี “อุปกรณ์กักเก็บพลังงาน - Smart Grid”


วันนี้ (6 พ.ย.) มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ (ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ที่มี นายพรชัย รุจิประภา เป็นประธานฯ ได้สรุปผลการประชุม 11 ครั้ง เพื่อเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อช่วยดำเนินการตามมาตรา 18 (3) แห่งพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 โดยมี พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นประธาน

ที่ประชุม ได้กำหนดเวทีจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น จำนวน 4 ครั้ง ได้แก่ กรุงเทพฯ วันที่ 28 พ.ย. นครราชสีมา วันที่ 8 ธ.ค. นครสวรรค์ วันที่ 13 ธ.ค. และระยอง วันที่ 23 ธ.ค. 2560 สำหรับผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานสามารถลงทะเบียน เข้าร่วมสัมมนารับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ www.ptit.org หรือส่งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะผ่านอีเมล Thaienergyreform2017@gmail.com หรือทางไปรษณีย์ถึง “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน)” เลขที่ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดกรุงเทพฯ 10100 หรือที่เว็บไซต์ http://www.nesdb.go.th

มีรายงานว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทาง “เร่ง ซ่อม สร้าง” โดยเห็นชอบให้ “เร่ง” พิจารณากระจายการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลวให้มาจากหลายๆ แหล่งเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนเพื่อส่งเสริมการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ลดความซ้ำซ้อนของกฎหมายในการกำกับดูแลธุรกิจพลังงาน โดยกำหนดแนวปฏิบัติที่ดีและปรับโครงสร้างหน่วยงานที่สำคัญ พร้อมทั้งปรับปรุงกลไก โครงสร้างตลาด และราคาด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน

เห็นชอบแนวทาง “ซ่อม” ปรับปรุงการสื่อสารข้อมูลกับสาธารณะให้ครบทุกมิติ พัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติที่น่าเชื่อถือ พัฒนาบุคลากรด้านการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้ประกอบการ ประชาชน พร้อมยกระดับและส่งเสริมธรรมาภิบาล และเห็นชอบ “สร้าง” การวางรากฐานการบริหารจัดการและโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม เตรียมความพร้อมของกลไกและปัจจัยแวดล้อมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากจุดแข็งประเทศไทย ส่งเสริมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงาน อาทิ พัฒนาอุปกรณ์การกักเก็บพลังงาน พัฒนาระบบโครงข่าย Smart Grid พร้อมกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย และทิศทางการพัฒนารถไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

“ได้มีการพิจารณาถึงนโยบายและแผน รวมถึงประเด็นข้อเสนอการปฏิรูปของร่างยุทธศาสตร์ชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยศึกษา และทบทวนประเด็นการปฏิรูปด้านพลังงานที่สำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางของอนาคต ที่เปลี่ยนแปลงไป”

นายพรชัย กล่าวว่า ความจำเป็นและความสำคัญในการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานและปัญหาด้านพลังงานที่เกิดขึ้นนั้นมาจากเรื่องของความเสี่ยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยปัจจุบันการผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์เพื่อการบริโภคภายใน ประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการและมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 80 ของความต้องการใช้ โดยขาดการกระจายความเสี่ยงของแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ขณะที่แหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศ มีปริมาณที่จำกัดและลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงในการจัดหาก๊าซธรรมชาติในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมาจากความเสี่ยงในด้านการบริหารจัดการพลังงาน จากการใช้พลังงานที่ขาดประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ยังไม่ได้รับการปรับปรุงหรือลงทุนอย่างเพียงพอเพื่อรองรับเทคโนโลยี หรือการใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานได้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็นและก่อให้เกิดความสูญเสียในระบบพลังงานของประเทศ ขณะที่ กฎหมายและระเบียบไม่เอื้อต่อการพัฒนาหรือแข่งขันเสรี รวมไปถึงความเสี่ยงจากบริบทการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อาทิ ผลจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน หรือแม้แต่การขยายตัวของสังคมเมือง ซึ่งทุกๆ บริบททำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของตลาด รูปแบบธุรกิจ และพฤติกรรมของผู้บริโภค

สำหรับ กก. ปฏิรูปด้านพลังงาน นอกจาก นายพรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ยังมี นายมนูญ ศิริวรรณ อดีต สปช. และอดีตผู้บริหารบางจาก นายดุสิต เครืองาม อดีต สปท. ด้านพลังงาน น้องชาย นายวิษณุ เครืองาม นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน และปัจจุบันเป็นประธานบอร์ด ปตท.
กำลังโหลดความคิดเห็น