ตัวแทน 5 สมาคมผู้ประกอบการโทรทัศน์ ยื่นหนังสือประธานกรรมการปฎิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ขอให้แก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ แยกประเภทคลื่นความถี่ PAY TV และ FREE TV เพิ่มเวลาโฆษณาดันรายได้ให้สูงขึ้น
วันนี้ (31 ต.ค.) มีรายงานจากสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม ว่าตัวแทน 5 สมาคมผู้ประกอบการโทรทัศน์ซึ่งประกอบด้วย ทีวีดาวเทียม เคเบิล และโครงข่าย นำโดยนายนิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียมประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานกรรมการปฎิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. เพื่อขอให้แก้ไขการแยกประเภทคลื่นความถี่จากกิจการโทรทัศน์ ที่ใช้คลื่นความถี่และไม่ใช้คลื่นความถี่เป็นกิจการประเภทเรียกเก็บค่าสมาชิก หรือค่าใช้จ่ายจากผู้ชม หรือ PAY TV และกิจการประเภทที่ไม่เรียกเก็บค่าสมาชิกจากผู้ชม หรือ FREE TV เนื่องจากกิจการโทรทัศน์ เป็นกิจการที่ให้ภาพและเสียง ที่เปลี่ยนรูปแบบ เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการ จะมีบริการให้เลือกเพียง 2 ประเภท คือ ประเภทจ่ายเงินและไม่ต้องจ่ายเงิน
ขอให้ยกเลิกการจำกัดเวลาโฆษณา ยกเว้นช่วงเวลาที่ถ่ายทอดสด เนื่องจากไม่ได้คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งผู้ชมมักจะเปลี่ยนช่องช่วงที่มีโฆษณาไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และขอให้ทบทวนคุณสมบัติของ กสทช.ที่ต้องมีผู้บริหารกิจการวงโครจรดาวเทียมและทบทวนคุณสมบัติของกิจการ กสทช. ที่ห้ามบริหารงานในระยะเวลา 1 ปี ก่อนได้รับการเสนอชื่อ เพราะผู้สมัครต้องมีประสบการณ์ด้านการบริหารกิจการประจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือ กิจการโทรคมนาคม ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ปี และผู้ที่มีความรู้ความสามารถมีจำนวนจำกัด ต่างก็ได้รับการเสนอเข้าไปเป็นผู้บริหารวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมทั้งสิ้น
ด้านนายจิรชัยรับหนังสือพร้อมระบุว่าจะรับข้อเสนอของ 5 สมาคมผู้ประกอบการโทรทัศน์ไว้ ทั้งนี้ คณะกรรมการกำลังดำเนินการข้อมูลและพิจารณากฎหมายร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรม และมาตราฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และร่าง พ.ร.บ.การจดแจ้งการพิมพ์ ส่วนกรณีที่ 5 สมาคมเสนอมาอยู่ในชั้นการพิจารณาของ สนช. หากมีอะไรก็สามารถเสนอแนะเข้ามาได้
ส่วนปัญหาวิกฤตผลกระทบของทีวีดิจิตอลนั้น นายจิรชัยกล่าวว่า ทางรัฐบาลรับทราบแล้ว หน่วยงานที่ดูแลโดยตรง คือ กระทรวงดีอี และ กสทช. เบื้องต้นได้มีการเยียวยาด้วยการลดค่าใบอนุญาตประกอบการไปแล้ว การแก้กฎหมายบางเรื่องบางอย่างอาจต้องใช้กฎหมายพิเศษ หรือ ม.44 ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้การแก้ปัญหาได้รวดเร็ว ที่ทางคณะกรรมการชุดนี้จะรวบรวมความเห็นจากภารรัฐ สื่อ และประชาชน ไปให้รัฐบาลประกอบการพิจารณา