กทม.จ่ายเงิน “รางวัลนำจับ” จากค่าปรับจัดระเบียบทางเท้า ให้ 171 พลเมืองดี กว่า 5.5 หมื่นบาท อีก 17 รายไม่ขอรับเงิน พบ 2 เดือนคน กทม.แจ้ง 5,486 ครั้ง ส่งดำเนินคดี 257 คดี รวมเงินรางวัลนำจับ 88,150 บาท ด้านผู้บริหารหวังต่อยอดโครงการ ผุด 1 ถนน 1 เขต หวังดึงเอกชน/ห้างสรรพสินค้าบริเวณสี่แยกร่วม
วันนี้ (30 ต.ค.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการพัฒนาจัดระเบียบทางเท้า ภายหลังได้เปิดศูนย์รับเรื่องแจ้งเบาะแสผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบานเมือง ตั้งแต่ 15 สิงหาคม 2560 เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาการจัดระเบียบ ทางเท้า โดยให้ผู้แจ้งเบาะแสสามารถแจ้งเบาะแสได้ 6 ช่องทาง ได้แก่ แอปพลิเคซันไลน์ อีเมล เฟซบุ๊ก จดหมาย และโทรศัพท์ รวมจำนวนสมาชิกทั้งหมด 95,453 ราย หรือมาแจ้งด้วยตัวเองที่สำนักงานเขต
“ล่าสุดในเดือนตุลาคม 2560 ได้รับแจ้งความทั้งหมด 5,486 ครั้ง ปรับเป็นคดี ทั้งหมด 257 คดี เป็นเงิน 88,150 บาท ผู้แจ้งเบาะแสขอรับเงินไปแล้ว จำนวน 171 ราย เป็นเงิน 55,750 บาท ยังไม่มาขอรับ 69 ราย เป็นเงิน 25,550 บาท ไม่ประสงค์รับเงิน 17 ราย เป็นเงิน 6,850 บาท และว่ากล่าวดักเตือนตามมาตรา 44 จำนวน 29 ราย สั่งให้แก้ไขและปฏิบัติตามมาตรา 44 จำนวน 95 ราย อยู่ระหว่างสืบหาตัวผู้กระทำความผิด โดยประสานกับกรมการขนส่งทางบก และตำรวจนครบาล จำนวน 2,795 ราย และอื่นๆ จำนวน 817 ราย ส่งฟ้องศาล จำนวน 4 ราย จำหน่ายเรื่องทั้งหมด 9 ราย”
ทั้งนี้ ในการจัดระเบียบทางเท้าของกรุงเทพมหานคร เป้าหมายคือ พัฒนาทางด้านคุณภาพ ปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างวัฒนธรรมการใช้ทางเท้า รักษาสภาพแวดล้อมให้ยั่งยืน โดยการใช้หลัก 5 ไม่ คือ 1. ไม่จอดรถหรือขับขี่บนทางเท้า 2. ไม่มีหาบเร่แผงลอย 3. ไม่มีป้ายโฆษณา 4. ไม่มีสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย 5. ไม่ทั้งวางกระถางต้นไม้หรือสิ่งใด ๆ บนทางเท้า โดยให้สำนักงานเขตคัดเลือกถนนที่จะพัฒนา เขตละ 1 ถนน ขณะนี้สำนักงานเขตได้ส่งรายชื่อถนนดังกล่าวมาแล้วจำนวน 39 เขต เหลืออีก 11 เขต ซื่งจะมีคณะทำงานตรวจติดตามประเมินผล และสำนักเทศกิจจะจัดส่งแผนๆ ให้สำนักงานเขต ดำเนินงานตามแผนฯ ต่อไป
มีรายงานด้วยว่า พล.ต.ท.ชินทัต มีศุข รองผู้ว่าฯ กทม.ได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาถนน 1 สาย เพื่อประสานกับที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.ร่วมกันสำรวจและติดตามความคืบหน้าการคัดเลือกถนน ในการพัฒนาจัดระเบียบทางเท้า ก่อนรายงานผู้ว่าฯ กทม.เพื่อทราบ และเห็นควรให้ภาคเอกชนในเขตพื้นที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาปรับปรุงทางเท้า โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า บริเวณสี่แยกต่างๆ