xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” เตือน “บิ๊กตู่” เตะถ่วงไม่เรียกเก็บภาษีเบี้ยปรับบริษัทน้ำมัน ระวังซ้ำรอย “ปู”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แกนนำ คปพ.สะกิดบี้ “ประยุทธ์” จัดการเรียกเก็บภาษีและเบี้ยปรับบริษัทน้ำมันเชฟรอน พร้อมฟัน ขรก.ที่ช่วยเอกชนหนีภาษี ตามที่ สตง.ชงเรื่องเตือน ขู่เตะถ่วงไม่เลิกระวังเจอบทสรุปแบบ “ยิ่งลักษณ์” ที่ปล่อยให้ทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

วันนี้ (22 ต.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. หนึ่งในแกนนำ คปพ. ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ “เมื่อไหร่ท่านนายกฯ จะจัดการเรียกเก็บภาษีและเบี้ยปรับบริษัทน้ำมัน และดำเนินคดีกับข้าราชการที่ช่วยเอกชนหนีภาษี?” โดยระบุว่า กรณีที่ผู้บริหารในกรมศุลกากรตอบข้อหารือถึงผู้บริหารบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด เรื่องการนำน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะเป็นการส่งออกตามหนังสือตอบข้อหารือวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 และ 9 เมษายน 2558 นั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พิจารณาเห็นว่า การส่งน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้ที่แท่นขุดเจาะตามข้อเท็จจริงไม่ถือเป็นการส่งออก แต่ถือเป็นการค้าชายฝั่งที่ต้องเสียภาษีอากรตามปกติ

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้มีหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ตั้งแต่เมื่อ 30 กันยายน 2559 ขอให้ท่านนายกฯสั่งการให้มีการดำเนินการ 2 ประการ คือ

1) สั่งให้กรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตเรียกเก็บภาษีอากรพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย นอกจากนี้ให้เรียกเงินภาษีอากรที่มีการคืนให้บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ไปแล้ว กลับคืนเป็นรายได้แผ่นดิน 2) ให้ดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัยราชการด้วย

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่ได้สั่งการแต่ประการใด ต่อมาทางกระทรวงคลังแทนที่จะรีบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายกลับทู่ซี้ส่งเรื่องนี้ให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอีกว่า การส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะนั้นถือเป็นการส่งออกหรือเป็นการค้าชายฝั่งกันแน่ ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ)ได้วินิจฉัยข้อหารือนี้ในเดือนมกราคม 2560 ความตอนหนึ่งระบุว่า

“หากเป็นการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากในราชอาณาจักรไปยังแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมที่ตั้งอยู่บนไหล่ทวีปเพื่อใช้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามที่ขอหารือมา พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ได้กำหนดนิยามของคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้นการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากชายฝั่งในราชอาณาจักรไปยังแท่นขุดปิโตรเลียมซึ่งตั้งอยู่ในเขตไหล่ทวีปนอกทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล จึงต้องถือตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ กล่าวคือ ถือว่าการขนของไปใช้ในการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการประกอบกิจการปิโตรเลียมในราชอาณาจักร หากมีภาระภาษีใดๆ เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการดังกล่าวก็ต้องมีการจัดเก็บภาษีเช่นเดียวกับการประกอบกิจการในราชอาณาจักรด้วย"

เมื่อมีการวินิจฉัยอย่างชัดเจนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่า การส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะเป็นการค้าชายฝั่งที่ต้องเสียภาษีตามปกติ บริษัท เชฟรอน จึงต้องเสียภาษีและเบี้ยปรับตามที่ สตง.ได้รายงานต่อท่านนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่นับจากเดือนมกราคม 2560 จนถึงบัดนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องจัดการเรื่องภาษีก็ยังทอดหุ่ยไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ส่วน พล.ประยุทธ์ก็ยังไม่มีการสั่งการให้มีผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านเร่งรีบดำเนินการแต่ประการใดเช่นกัน การที่นายกฯ เพิกเฉยเช่นนี้จะเป็นการทำให้ข้าราชการที่กระทำการในทางมิชอบได้ใจและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และคนกลุ่มเดียวกันนี้ก็ยังมาวิ่งเต้นช่วยเหลือเอกชนที่มีการส่งน้ำมันจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วม (เจดีเอ) ให้ไม่ต้องเสียภาษีขาออกอีกด้วย และเหิมเกริมถึงกับเสนอให้ท่านนายกฯ ใช้มาตรา 44 เพื่ออุ้มเอกชนให้ไม่ต้องเสียภาษีให้รัฐอย่างผิดกฎหมาย และเพื่อให้เอกชนไม่ต้องรับโทษในการหลีกเลี่ยงภาษีอีกด้วย

น.ส.รสนาระบุทิ้งท้ายว่า หากนายกรัฐมนตรีไม่ดำเนินการต่อทั้ง 2 กรณีอย่างถูกต้อง ทั้งที่มีเสียงเตือนมาแล้วอย่างเป็นทางการจาก สตง.อาจจะทำให้นายกฯ ประยุทธ์ต้องตกที่นั่งเดียวกับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กรณีจำนำข้าวที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินกรณีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตที่ทำให้รัฐเสียหาย จึงใคร่ขอให้นายกฯ โปรดพิจารณาดำเนินการให้มีการเรียกเก็บภาษีให้ถูกต้อง และดำเนินการสอบสวนเอาผิดข้าราชการที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติเพื่อให้รัฐเสียหายตามที่ สตง.ได้รายงานมาถึงท่านนายกรัฐมนตรีโดยเร่งด่วนด้วยเถิด

กำลังโหลดความคิดเห็น