xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” แฉตัวแทนศาล รธน.นั่ง กก.สรรหา กกต.ส่อขัด กม.ลูก อ้างท้วงเพราะอยากทำให้ถูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
กรรมการการเลือกตั้ง แฉตัวแทนศาลรัฐธรรมนูญ ส่อขัดกฎหมายลูก มีคุณสมบัติต้องห้ามนั่ง กก. สรรหา สับ กรธ. ตั้งสเปกมหาเทพ เขียนเกิน รธน. ทำคนมานั่งยาก อ้างท้วงเพราะอยากทำให้ถูกต้อง ด้าน เลขาฯ กสม. รับเลยกรอบเวลาส่งคนไปใหม่ โยนที่ประชุมพิจารณายังทำได้หรือไม่

วันนี้ (9 ต.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ได้ตรวจสอบรายชื่อคณะกรรมการสรรหา กกต. ที่ได้มีการประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา และเห็นว่า ตัวแทนองค์กรอิสระที่ส่งคนเข้ามาเป็นกรรมการสรรหา อาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ โดยพบว่า นายเจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้งมา มีชื่อเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 5 / 2550 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ที่มี นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นประธาน ดังนั้น เมื่อนับระยะเวลาจนถึงปัจจุบัน ถือว่ายังพ้นจากตำแหน่งข้าราชการการเมืองมาไม่เกิน 10 ปี ตามที่มาตรา 11 (4) ประกอบมาตรา 10 (18) ของ พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. กำหนด เป็นลักษณะต้องห้ามของการเป็นกรรมการสรรหา ทั้งนี้ นายเจริญศักดิ์ ก็อาจจะยังไม่รู้ตัวว่า ขาดคุณสมบัตินี้ และศาลรัฐธรรมนูญก็อาจจะไม่ทราบเช่นกัน

นายสมชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า การเขียนกฎหมายของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ( กรธ.) ทำให้เกิดอุปสรรคในการสรรหาผู้ที่จะมาเป็นกรรมการสรรหา โดย กรธ. ได้เขียนคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการสรรหา กกต. ใน พ.ร.ป. กกต. ไว้เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนด ทั้งที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 217 กำหนดให้คุณสมบัติ คณะกรรมการสรรหายึดตามมาตรา 203 (4) และ 204 205 และ 206 ซึ่งเป็นเรื่องของคุณสมบัติทั่วไป และลักษณะต้องห้าม แต่ในมาตรา 11 (4) ของ พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. กลับเพิ่มเติมโดยนำคุณสมบัติตามมาตรา 232 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นกรรมการองค์กรอิสระ เช่น ต้องเป็นศาสตราจารย์มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานรัฐ ไม่ต่ำว่าอธิบดี หรือผู้บริหารรัฐวิสาหกิจมาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือที่ตนเรียกว่า สเปกมหาเทพ มาบัญญัติไว้เป็นสเปคของกรรมการสรรหา กกต. ในมาตรา 8 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต.

“แม้หลายฝ่ายจะมองว่าการเพิ่มบทบัญญัติดังกล่าวจะไม่ได้เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่การเขียนเกินรัฐธรรมนูญของ กรธ. ก็มีผลให้การหาบุคคลมาเป็นกรรมการสรรหาทำได้ยาก จะเห็นได้ในการสรรหาครั้งนี้ ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เสนอชื่อ นายธีรภัทร สันติเมทนีดล ซึ่งเคยเป็นรองปลัดสำนักนายกฯ แต่ก็ต้องถูกตีกลับ เพราะตำแหน่งไม่ได้เทียบเท่าอธิบดี ตามที่มาตรา 8 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. กำหนด และทราบว่า ทาง กสม. ก็จะมีการประชุมเพื่อเลือกบุคคลที่จะเป็นตัวแทนไปทำหน้าที่กรรมการสรรหาในวันพรุ่งนี้ (10 ต.ค.) แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะเสนอชื่อไปเป็นกรรมการสรรหาได้แล้ว เพราะพ้นกรอบเวลาเสนอชื่อที่กำหนดไว้ 20 วัน ตามมาตรา 11 วรรคสาม แล้ว” นายสมชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสมชัย กล่าวว่า ตนยังห่วงกรณีของ นายไพโรจน์ กัมพูสิริ ที่ได้รับการเสนอเสนอชื่อจากผู้ตรวจการแผ่นดินว่าจะเคยปฏิบัติหน้าที่ในศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระอื่นๆ หรือไม่ เพราะขณะนี้ยังตรวจสอบไม่พบ ทั้งนี้ ที่ตนออกมาทักท้วงก่อน ไม่ใช่ต้องการให้กระบวนการสรรหาหยุดชะงัก เพราะทราบดีว่ากฎหมายกำหนดว่า หากไม่สามารถหากรรมการสรรหาได้ครบ ก็ให้กรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่เป็นกรรมการสรรหา แต่ผมก็อยากให้ทุกอย่างเป็นไปโดยถูกต้อง เพราะถ้าประชุมไปจนถึงขั้นเลือกผู้ที่จะมาเป็น กกต. ได้แล้ว และมีการทักท้วงว่ากระบวนการไม่ถูกต้องก็จะทำให้ การสรรหาต้องเสียเปล่าไป

ด้าน นางภิรมย์ ศรีประเสิรฐ์ เลขาธิการสำนักงาน กสม. กล่าวว่า ทาง กสม. จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลไปทำหน้าที่กรรมการสรรหา กกต. แทน นายธีรภัทร ตามที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภาแจ้งมา ว่า ให้คัดเลือกบุคคลไปแทนผู้ที่ขาดคุณสมบัติ แต่ทั้งนี้ ก็คงจะต้องเสนอให้ที่ประชุม กสม.พิจารณาก่อนว่า จะยังสามารถส่งชื่อได้หรือไม่ เพราะสำนักงานได้รับหนังสือแจ้ง ให้สรรหาบุคคลวันที่ 15 กันยายน ซึ่งจะครบกรอบ 20 วัน คือ วันที่ 5 ตุลาคม ซึ่งก็ถือว่าเลยเวลาไปแล้ว แต่หากจะส่งกลับไปใหม่จะถือว่าเกินระยะเวลาหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น