รองนายกฯ เบรกพรรคการเมืองรออีกหน่อย เดี๋ยวได้ปลดล็อกเปิดประชุมพรรค เชื่อไม่ถึงขั้นเกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบ ไม่ทราบ ครม.-คสช.ถกเรื่องนี้พรุ่งนี้หรือไม่ เผยลุยตรวจสอบสื่อบิดข่าวรัฐบาลเตรียมขึ้นแวต 10% ซัดจงใจทำประเทศปั่นป่วน
วันนี้ (9 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองเรียกร้องเปิดประชุมพรรค ภายหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่ประกาศใช้ว่า ขอให้พรรคการเมืองรออีกหน่อย เดี๋ยวทำได้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองได้กำหนดไว้ว่า พรรคการเมืองที่ตั้งไว้แล้วนั้นจะต้องทำเรื่องต่างๆ ภายในกรอบเวลากี่วัน เช่น 90 วัน 180 วัน ส่วนพรรคการเมืองใหม่สามารถหาสมาชิก 500 คนแล้วจดทะเบียนได้ แม้เวลานี้อาจติดขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ซึ่งรัฐบาลรับทราบถึงปัญหานี้ จึงได้ประกาศ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองออกมา ขณะเดียวกัน ช่วงเดือน ต.ค.นี้จะมีพระราชพิธีสำคัญ จึงขอให้พรรคการเมืองได้อดกลั้นอีกหน่อย เชื่อว่าคงไม่ถึงขนาดก่อให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คงไม่พร้อมในบางอย่าง จึงต้องใช้ช่วงเวลาในเดือนนี้เตรียมการ ก่อนที่ คสช.จะพิจารณาดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนจะดำเนินการอย่างไรนั้นตนไม่ทราบ ยืนยันว่าไม่กระทบต่อกรอบเวลาที่พรรคการเมืองจะดำเนินการเรื่องต่างๆ แน่นอน เพราะกรอบเวลาที่ใกล้ที่สุดคือ 90 วันนั้นไม่มีอะไรยุ่งยาก ดูแล้วทำทัน ส่วนที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่าการร่วม ครม.-คสช.ในวันที่ 10 ต.ค.นี้จะมีวาระพิจาณาปลดล็อกพรรคการเมืองนั้น เบื้องต้นตนไม่ทราบ เพราะไม่มีในวาระการประชุม ครม. แต่ก็อาจเป็นไปได้ เพราะพรุ่งนี้มีการประชุม คสช.ด้วย หากจะปลดล็อกพรรคการเมืองจะต้องเป็นมติ คสช.
นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีมีการเสนอข่าวว่ารัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาภาษีสรรพสามิต โดยทำให้ปีหน้าภาษีจะปรับขึ้นเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ว่า เป็นความเข้าใจผิด หากเป็นสื่อที่ติดตามทำข่าวในด้านนี้จะรู้ว่าเป็นการเขียนภาษากฎหมายที่มีมาตั้งแต่สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ ที่กำหนดเพดานสูงสุดที่ 10 เปอร์เซ็นต์ และให้ ครม.เสนออัตราภาษีเป็นรายปี โดยในทุกๆ ปีที่ผ่านมาจะไม่เกิน 7 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นการลดภาษีไม่ใช่เพิ่มภาษี อย่างไรก็ตาม ภาษีจะขึ้นไปเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ก็ต่อเมื่อรัฐบาลไม่ออกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว แต่ที่ผ่านมาไม่พบว่าไม่มีปีใดที่ไม่ออก
“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้คนเข้าใจผิด และกำลังจะให้สอบว่าเป็นความเข้าใจผิดเพราะบังเอิญหรือเพราะจงใจให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในประเทศ ตรวจสอบด้วยว่าสื่อตั้งใจอย่างไร” นายวิษณุกล่าว