xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.ร้องทบทวน กม.อีอีซี หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม สนช.ขออย่าห่วง รธน.คุ้มครอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ)
ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ยื่นหนังสือ สนช.ทบทวนกฎหมายอีอีซี หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม “สุรชัย” ปลอบอย่าห่วงเพราะรัฐธรรมนูญคุ้มครองอยู่

วันนี้ (9 ต.ค.) นายกัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ได้นำตัวแทนกลุ่มเข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เพื่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวโดยให้คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

นายกัญจน์กล่าวว่า กลุ่มศึกษาการพัฒนาฯ ได้ขอให้สิทธิรัฐธรรมนูญมาตรา 43 ในการเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้อยู่ภายใต้หลักการ 4 ด้าน ได้แก่ 1. รัฐต้องมีการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออกให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม และมีแนวทางจัดการปัญหาในระยะยาวอันเป็นที่ยอมรับได้ของประชาชนก่อนที่จะมีการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มขึ้น 2. รัฐต้องไม่เร่งรัดโครงการหรือกิจการที่อาจจะก่อผลกระทบในวงกว้างที่ปัจจุบันมีการคัดค้านอยู่ โดยขอให้มีการศึกษาทางเลือกและผลกระทบอย่างรอบด้านก่อน และต้องให้ประชาชนร่วมพิจารณาความเหมาะสมของโครงการด้วย

นายกัญจน์กล่าวว่า 3. รัฐต้องมีการปฎิบัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญโดยสมบูรณ์ด้วยในกระบวนการตรากฎหมายเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ เพราะการที่สนช.มีมติรับหลักการไปก่อนหน้านี้นั้นยังขาดการรับฟังความคิดเห็นก่อน ทำให้กฎหมายยังมีจุดอ่อนที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในหลายเรื่อง เช่น ขาดการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และ 4. รัฐต้องจริงจังกับความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของประชาชนในภาคตะวันออก เพื่อให้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเป็นตัวอย่างการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง ขอให้รัฐจริงจังกับความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ไม่เพียงแต่กับนักลงทุนและผู้ประกอบการเท่านั้น

ด้านนายสุรชัยกล่าวว่า จะนำขอเสนอทั้งหมดนี้ส่งไปให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ขอมั่นใจว่าการตรากฎหมายฉบับนี้จะต้องอยู่ภายใต้มาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ การดําเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดําเนินการถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสําคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดําเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน

รองประธาน สนช.ยังกล่าวว่า ดังนั้น ขอให้สบายใจได้เพราะรัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองอยู่แล้ว ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ ขณะเดียวกัน ส่วนตัวคิดว่าการดำเนินโครงการเหล่านี้จะต้องคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วยเพื่อให้การพัฒนาเกิดความสมดุล เพราะในอดีตเคยมีบทเรียนมาแล้วจากการที่มีการพัฒนาแต่สร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น