xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” ร้อง กกต.ชงศาล ฟัน 9 สนช.นั่ง คกก.ปฏิรูป พ่วง นายกฯ-ครม.ที่แทรกแซง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีมกฎหมาย พท.ยื่นคำร้อง กกต.สอบ 9 สนช.นั่ง คกก.ปฏิรูประเทศ เข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์ ส่งผลให้สมาชิกสภาพสิ้นสุดลงเฉพาะตัว พ่วงนายกฯ-ครม. รับผิดชอบฐานใช้ตำแหน่งหน้าที่ก้าวก่ายแทรกแซงบรรจุแต่งตั้ง จี้ส่งศาล รธน.วินิจฉัย เหตุมีคำวินิจฉัยวางบรรทัดฐานแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยไว้ชัดเจน

วันนี้ (9 ต.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผ่าน ส.ต.อ.นวัต บุญศรี ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย สำนักกฎหมาย สำนักงาน กกต. ขอให้ตรวจสอบ และเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ให้ความเป็นสมาชิก สนช. และความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดเฉพาะตัว กรณี 9 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูประเทศ เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคสอง ทำให้ความเป็น สนช.สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (7) หรือไม่ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่แต่งตั้งการกระทำเข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามมาตรา 186 วรรคสอง เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)

โดยนายเรืองไกรกล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้ สนช.ไปรับหรือดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร ขณะเดียวกันก็มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 10/2551 ที่วินิจฉัยวางหลักกฎหมายตามหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยไว้ซึ่งกลายเป็นบทบัญญัติในมาตรา 265 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญว่า ส.ส.หรือ ส.ว. ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ ไม่รับเงิน หรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ ซึ่งเมื่อตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีกลับพบว่ามีการตั้ง สนช.ร่วมเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศรวม 9 คน คือ มติ ครม.วันที่ 4 ก.ค. ตั้ง 1. พล.อ. บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ 2. พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ 3. พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ 4. นายมนุชญ์ วัฒนโกมร 5. พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ 6. พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ( ตำรวจ) และมติ ครม.วันที่ 15 ส.ค. มีการตั้ง 7. นายอิสระ ว่องกุศลกิจ เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ 8. นายภิรมย์ กมลรัตนกุล เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และ 9. นายกล้านรงค์ จันทิก เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งหมดไปร่วมประชุมเสนอแนวทางการปฏิรูปที่ต่อมาอาจจะต้องนำไปสู่การตรากฎหมายที่ต้องมาผ่านการพิจารณาของ สนช. มีการรับเบี้ยประชุมต่าง การกระทำจึงเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

“ผมไม่ได้จ้องจะร้องทำลาย สนช. แต่เป็นว่าตามกฎหมาย อย่างนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็น สนช.ด้วย และก็ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ผมก็ไม่ร้อง เพราะนายสมคิดสวมหมวกอีกใบเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ถือเป็นข้าราชการประจำ ตรงนี้กฎหมายไม่ห้ามสามารถไปดำรงตำแหน่งได้ แต่ทั้ง 9 คนที่ผมร้อง ทุกคนเกษียณอายุกันหมดแล้ว ซึ่งผมก็ได้สำเนาประวัติบุคคลทั้งหมดที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ระบุวันเดือนปีเกิดครบแนบมาให้ กกต.ด้วย”

นอกจากนี้ ในส่วนของนายกรัฐมนตรี และครม.ที่มีคำสั่งแต่งตั้งก็ต้องรับกับความผิดดังกล่าวด้วยเพราะเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา 186 วรรคสอง ประกอบกับระบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง 2551 ข้อ 15 ระบุชัดไม่ให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะ หรือตำแหน่งการเป็นข้าราชการกรเมืองเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการบรรจุ แต่งตั้ง กรณีดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ต้องร้องต่อ กกต.เพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็น สนช.และรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ตนก็ได้ร้องต่อกกต.ขอให้ดำเนินการกับนายกรัฐมนตรีและ ครม. ในความผิดเดียวกันนี้กรณีแต่งตั้งนายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น