ป้อมพระสุเมรุ
ถูลู่ถูกังไปจนได้..
ที่สุด สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ได้ลงนามในสัญญาโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (เน็ตชายขอบ) 3,920 หมู่บ้าน จำนวน 8 สัญญา วงเงินรวม 12,989.69 ล้านบาท ใช้งบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO Net) ไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา
หลังจาก “ขัดลำกล้อง” ต้องซอยเท้ารอร่วม 2 เดือน ทั้งที่ได้ผู้ชนะประมูลในแต่ละสัญญาตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ “ไม่กล้า” เดินหน้าต่อ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. มีมติให้สำนักงาน กสทช.ไปจัดทำร่างหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเสนอทางบอร์ด กสทช.ก่อนส่งให้กับ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่มี “หนังสือท้วงติง” มาให้เรียบร้อยเสียก่อน
ซึ่งหลักๆ “ข้อสังเกต” ของ สตง.หนักไปใน “ทางเทคนิค” ที่รูปแบบการทำ “โครงการเน็ตชายขอบ” ดูจะไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกับโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ (เน็ตประชารัฐ) ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) อาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต ในเรื่องการส่งมอบทรัพย์สินโครงข่ายให้กับรัฐเพื่อบริหารจัดการต่อ และเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง 5 ปี ของโครงการเน็ตชายขอบ ที่หากเอกชนเห็นว่าไม่สามารถทำกำไรได้ ก็อาจจะไม่บริหารต่อ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ
จนทำให้ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ที่ประคบประงม “เน็ตชายขอบ 1.3 หมื่นล้าน” มาแต่อ้อนแต่ออก ถึงกลับมานั่งรำพึงว่า ท้อแท้ใจ ที่ถูก สตง.ท้วงติง จนโครงการเดินหน้าต่อไม่ได้ และอาจต้องยกเลิกผลประมูล
หากแต่ “เลขาฯฐากร” ในฐานะเบอร์หนึ่งของสำนักงาน กสทช.ก็ได้ทำการตอบข้อสงสัยของ สตง.ไปรวมแล้ว 4-5 ครั้ง พร้อมๆกับกระแสวิพากษ์ในหลายสื่อ ที่มุ่งโจมตีไปที่ สตง.ว่าเป็น “ไอ้เข้ขวางคลอง” ราวกับนัดกันมา
และในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า การตอบหนังสือไป 4-5 หนของนายฐากร ได้เคลียร์คัททุกประเด็นที่ สตง. ตั้งข้อสังเกตแล้วหรือไม่ จู่ๆ กสทช. ก็ตีธงเซ็นสัญญากับเอกชนที่ชนะประมูล อันได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT) จำนวน 3 สัญญา รวมวงเงิน 6,486 พันล้านบาทเศษ “บริษัทในเครือทรู” จำนวน 3 สัญญา แบ่งเป็น บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด ชนะประมูล 1 สัญญา วงเงิน 2,812 ล้านบาทเศษ และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ชนะประมูล 2 สัญญา วงเงินรวม 1,318 พันล้านบาทเศษ รวมเป็น 4,130 ล้านบาทเศษ
อีก 2 สัญญา เป็นของ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) (ITEL) 1 สัญญา วงเงิน 1,868 ล้านบาทเศษ และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) 1 สัญญา วงเงิน 504 ล้านบาทเศษ
เหตุที่ กสทช.กล้าเดินหน้าเซ็นสัญญาผูกมัดกับเอกชน ทั้งที่ยังไม่มีคำตอบรับอย่างเป็นทางการจากฝั่ง สตง.อย่างเป็นทางการ ก็คงเป็นด้วยสัญญาณหลัก 2 ประการ
กล่าวคือ สัญญาณที่ออกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประกาศเดินหน้า “โครงการเน็ประชารัฐ” เต็มสูบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างรายได้ สร้างงานให้ประชาชน ในงาน “ดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2017” เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้เดินทางเปิดงานโครงการเน็ตประชารัฐ และโครงการเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ ที่ จ.สตูล ในวันที่ 29 ก.ย.
และช่วงสัปดาห์เดียวกันยังมีคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ยุติการปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการ สตง. หลังจากครบวาระตามคำสั่ง คสช.เดิม และให้ พรชัย จํารูญพานิชย์กุล รองผู้ว่าการ สตง.รักษาการแทนผู้ว่าการฯ
เป็นสัญญาณที่ทำให้ กสทช.เดินหน้าโครงการได้อย่างสบายใจ โดยเฉพาะเมื่อสิ้นขวากหนามอย่างนายพิศิษฐ์ที่ตามจิกตามกัด “เน็ตชายขอบ” มาแบบไม่ปล่อย
แต่ไม่ทันไรข้อห่วงใยของ สตง.ในสมัยนายพิศิษฐ์ ก็เริ่มมีเค้าลางความวุ่นวายเกิดขึ้น เมื่อนายฐากร ได้ประกาศเร่งดำเนินการจ้างบริการ เพื่อให้เปิดใช้งาน ให้ได้ตามเป้าหมายไม่น้อยกว่า 588 หมู่บ้าน ภายในเดือน ธ.ค. 2560 พร้อมกำหนดราคาแพ็คเกจค่าบริการออกมาล่วงหน้าที่ “ไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน”
ในทางกลับกัน “เน็ตประชารัฐ” ในความรับผิดชอบของกระทรวงดีอี จำนวน 24,700 หมู่บ้าน วงเงินงบประมาณ 15,000 ล้านบาท ก็ได้มีการกำหนดราคาเบื้องต้นไว้ที่ “399-599 บาทต่อเดือน”
จนเกิดข้อสงสัยว่า “เน็ตประชารัฐ” ซึ่งเป็น “โครงการแม่” ของ “เน็ตชายขอบ” และมีต้นทุนให้บริการ-การติดตั้งต่ำกว่าเป็นเท่าตัว เหตุใดจึงกำหนดอัตราค่าบริการสูงกว่าเช่นนี้
ซึ่งก็เป็นหนึ่งในข้อสังเกตของ สตง.ที่มองว่าโครงการซ้ำซ้อนกัน อีกทั้ง “โครงการแม่” ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 24,700 ล้านบาท ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เหตุใด “โครงการลูก” ถึงรีบเร่งในการคิกออฟโครงการไปล่วงหน้า ตรงนี้อาจอ้างได้ว่า หากรอกันไปมา ก็คงไม่ต้องทำอะไร จึงเลือกที่จะขับเคลื่อนไปก่อน อันนี้ไม่ว่ากัน
แต่ที่น่าจะต้องว่ากัน ก็ในเรื่อง “ค่าบริการรายเดือน” ที่แตกต่างกันเป็นเท่าตัว แต่กลับเป็น “เน็ตประชารัฐ” ที่ลงทุนราวหมู่บ้านละ 6 แสนบาทเศษ คิดค่าบริการ “แพงกว่า” ด้าน “เน็ตชายขอบ” ที่ลงทุนตกหมู่บ้านละ 3.3 ล้านบาทเศษ
แม้ว่าการกำหนดราคาค่าบริการต่ำๆ ของ กสทช.จะเป็นผลดีในอันที่จะไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน แต่ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การคำนวณค่าบริการของ กสทช.และกระทรวงดีอี ใช้สูตรการคำนวณแบบใด จึงทำให้เกิดภาวะ “ย้อนแยง” กันเช่นนี้
ลงทุนแพงคิดถูก ลงทุนถูกคิดแพง
สะท้อนให้เห็นได้ว่า ความไร้ประสิทธิภาพของการขับเคลื่อนบูรณาการโครงการต่างๆของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่มีการประสานข้อมูลกันอย่างชัดเจนเสียก่อน
สะท้อนให้เห็น “ความผิดปกติ” ที่เกิดขึ้นในทั้ง 2 โครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “โครงการเน็ตชายขอบ” ที่เหลือเชื่อมาตั้งแต่ตอนประมูลว่า มี “โอเปอเรเตอร์หลัก” เข้าวินเพียงแค่รายเดียว ในขณะที่ “ค่ายสีเขียว” ที่เข้าร่วมประมูลเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค.ด้วยนั้น ยกธงขาวไม่ยอมออกจากมุม จึงทำให้ไม่ได้แม้แต่สัญญาเดียว
แล้วหากมีการลงทุนในแต่ละหมู่บ้านสูงถึง 3 ล้านบาท แต่กำหนดเก็บค่าบริการได้เพียงเดือนไม่เกิน 200 บาทต่อครัวเรือนเช่นนี้ เพราะเกมนี้ กสทช. พยายามเล่นบท “โรบินฮูด” ยอมขาดทุนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างนั้นหรือ??
สะดุดกับข่าวก่อนหน้านี้ว่า ในระหว่างกระบวนการสำรวจพื้นที่ที่จะระบุว่า หมู่บ้านไหนจะได้ “เน็ตประชารัฐ” หมู่บ้านไหนจะได้ “เน็ตชายขอบ” ของ กสทช. ที่ได้ว่าจ้าง “สถาบันการศึกษาชื่อดัง” ให้สำรวจเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ จนสรุปออกมาเป็น 3,920 แห่งที่เป็น “หมู่บ้านชายขอบ”
แต่ก็มีข้อมูลระบุด้วยว่า การสำรววจของเสาสัญญาณของสถาบันฯแห่งนั้น เลือกที่จะสำรวจเฉพาะเสาของ “ทีโอที” เท่านั้น ไม่ได้สำรวจเสาของ “โอเปอเรเตอร์เอกชน” อีก 3 เจ้าที่อยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเชื่อว่าหากสำรวจอย่างครบถ้วนกระบวนความแล้ว จำนวนหมู่บ้านเน็ตชายขอบอาจมีไม่ถึง 3,920 แห่งอย่างแน่นอน
ตรงนี้ทำให้ “ผู้ชนะประมูลบางราย” แทบไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมมากมายนัก เมื่อในพื้นที่ที่ตัวเองประมูลได้ ก็มีเสารับส่งสัญญาณของตัวเองอยู่แล้ว งบประมาณติดตั้งระบบในพื้นที่หรือหมู่บ้านนั้นๆก็กลายเป็น “เงินกินเปล่า” ได้ไปฟรีๆกันเลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีข่าวอีกว่า ภายใต้ข้อผูกพันของ กสทช.ที่ทำกับ 5 บริษัท 8 สัญญานั้น ได้มีการเขียน “ล็อคด้วยสเปก” ของอุปกรณ์ว่า ต้องไปติดต่อขอซื้อจาก “บริษัทขาใหญ่รายหนึ่ง” ทั้งหมด ที่สำคัญ “ขาใหญ่รายเดิม” หรือชื่อย่อ “บริษัท T” นี้ สามารถกริ๊งกร๊างกับ “คนบนตึกไทยคู่ฟ้า” ได้อย่างไม่มีปัญหาอีกด้วย
เมื่อมีการเซ็นสัญญา พร้อมประกาศก้องว่า ต้องเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อให้โครงการเสร็จตามกำหนด ซึ่งแม้จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อสงสัยอื้ออึงในอีกหลายประเด็น
อิหรอบนี้ อีกไม่นานน่าจะมีคนต้องรับผิดชอบ .. จริงไม่จริง ท่านเลขาฯ.