xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ จี้นายกฯ ทำ 8 เรื่อง หวั่น กก.ปฏิรูปไม่ทำตามเจตนารมณ์ รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ จี้ปฏิรูปตำรวจ บี้ กก.ปฏิรูปแสดงความรับผิดชอบ หลังไม่ทำตามเจตนารมณ์ รธน. โวยรักษาโครงสร้างปัญหาเดิมไว้ ห่วงทำไม่ได้ตามที่หวัง แนะทำ 8 เรื่อง โอน ตร.11 หน่วยใน 2 ปี แยกงานสอบสวนออกจาก สตช. ยุบ บช.ภ. ปรับโครงสร้างตำรวจจังหวัด โยกย้ายตามอาวุโส ยกเลิกรางวัลค่าปรับ

วันนี้ (5 ต.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เมื่อเวลา 11.00 น. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) นำโดยนางสมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่าย คป.ตร.ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เร่งปฏิรูปตำรวจตามเสียงเรียกร้องของประชาชน และแสดงความรับผิดชอบกรณีการดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจครบ 3 เดือนไม่ทำตามเสียงประชาชนและไม่ตรงต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

นางสมศรีกล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจไม่ได้ดำเนินตามเสียงเรียกร้องของประชาชน แต่ยังรักษาโครงสร้างเดิมที่สร้างปัญหาต่อประชาชนเอาไว้ต่อไป จึงได้ประเมินคะแนนการทำงานเพียง 1 จาก 10 คะแนน และความกังวลว่าจะไม่สามารถปฏิรูปตำรวจได้ตามที่ประชาชนคาดหวัง และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือขัดรัฐธรรมนูญ จึงเป็นห่วงว่าหากไม่รื้อโครงสร้างตำรวจครั้งใหญ่ การแก้ปัญหาจะไม่สำเร็จ ประชาชนจะต้องเดือดร้อน ตกเป็นเหยื่อต้นทางกระบวนการยุติธรรมที่ล้าหลัง และการฉ้อฉลของตำรวจต่อไปไม่สิ้นสุด

นางสมศรีกล่าวว่า เพื่อให้การปฏิรูปสอดคล้องกับเสียงเรียกร้องของประชาชน และเป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจและองค์กรภาคประชาชนทั่วประเทศ 102 องค์กรขอเรียกร้องให้นายกฯ ดำเนินการปฏิรูป 8 เรื่อง ดังนี้ 1. เร่งดำเนินการตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 30 กันยายน 2558 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติมาตรา 6 ที่โอนให้ตำรวจ 11 หน่วยไปให้กระทรวง ทบวง กรมที่รับผิดชอบ เป็นการกระจายอำนาจตำรวจไปยังหน่วยงานที่จำเป็นเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเฉพาะด้านมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นภายในเวลา 2 ปี 2. แยกระบบงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งมีระบบการบังคับบัญชาแบบมีชั้นยศเหมือนทหาร 3. ให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีที่มีโทษจำคุกเกิน 5 ปี หรือคดีที่เห็นว่าจำเป็น หรือกรณีมีการร้องเรียนตั้งแต่เกิดเหตุ เพื่อให้การรวบรวมพยานหลักฐานเป็นไปด้วยความสุจริต 4. การสอบสวนต้องกระทำในห้องสอบสวนที่จัดเฉพาะมีระบบบันทึกภาพ และเสียงอัตโนมัติเป็นหลักฐานไว้ให้อัยการและศาลเรียกตรวจสอบได้เมื่อจำเป็นทุกคดี 5. ยุบกองบัญชาการทุกภาค เพื่อลดความซ้ำซ้อนและไม่จําเป็นในระบบการบังคับบัญชา

นางสมศรีกล่าวต่อว่า 6. ปรับโครงสร้างตำรวจจังหวัดตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมาที่ให้ตำรวจอยู่ประจำพื้นที่จังหวัด ตรวจสอบประเมินผลโดยคณะกรรมการจังหวัดและการบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด 7. กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง เลื่อนตำแหน่ง และโยกย้ายตํารวจทุกระดับ ให้พิจารณาตามอาวุโสการครองตำแหน่งเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสร้างความเป็นธรรมลดการวิ่งเต้น การซื้อขายตำแหน่ง 8. การเปรียบเทียบปรับความผิดจราจร ซึ่งเป็นอำนาจตุลาการ ต้องกระทำโดยดุลยพินิจของศาล เพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อประชาชนและยกเลิกรางวัลค่าปรับซึ่งไม่มีเหตุผล เนื่องจากไม่ใช่การกระทำผิดที่ซับซ้อน และก่อให้เกิดปัญหาตำรวจแจ้งข้อหาจราจรต่อประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากผู้บังคับบัญชากำหนำให้ทำยอดจับเพื่อหวังเงินรางวัล
กำลังโหลดความคิดเห็น