xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” ร้องผู้ตรวจฯ ชงศาลวินิจฉัยเซตซีโร่ กกต.ขัด รธน. ชี้ยิ่งกว่า กม.ตาต่อตาฟันต่อฟัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กกต.สมชัย” ยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาล รธน.วินิจฉัย ปมเซตซีโร่ใน พ.ร.ป.กกต.ขัด รธน.หรือไม่ เหตุ ขัดหลักนิติธรรม นิติประเพณี เจตนารมณ์ รธน. รอนสิทธิฯบุคคล ชี้รุนแรงกว่าหลักกฎหมายตาต่อตา ฟันต่อฟัน ยกคำพิพากษาวางบรรทัดฐานออก กม.มีผลย้อนหลังไม่ชอบ ยันต้องการสร้างมาตรฐาน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ไร้เจตนาทำสรรหา กกต.สะดุด

วันนี้ (4 ต.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษ์เกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยและเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 230 วรรค 1 (2) ประกอบมาตรา 231 วรรค 1 ว่ามาตรา 70 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ที่กำหนดให้ประธาน กกต.และ กกต.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.กกต.ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่ง นับแต่วันที่ พ.ร.ป.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 273 หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า พ.ร.ป.กกต.ที่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ทั้งในเรื่องความเป็นอิสระความเป็นกลางเพราะการสรรหา กกต.ชุดใหม่ภายใต้บทเฉพาะกาลขณะนี้คณะกรรมการสรรหาจะขาดผู้นำฝ่ายค้านในสภา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนวุฒิสภาในการเห็นชอบอาจนำไปสู่การได้ กกต.ชุดใหม่ที่ขาดความเป็นกลางทากงารเมืองมาทำหน้าที่จัดเลือกตั้ง ส่งต่อการยอมรับของประชาชน

นายสมชัยกล่าวต่อว่า การไม่เป็นกฎหมายที่ใช้ทั่วไป เนื่องจากแต่ละองค์กรอิสระมีการให้กรรมการพ้นสภาพแตกต่างกัน ความไม่เป็นเหตุผล ด้วยการอ้างว่าเพราะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่ง แต่กลับองค์กรอิสระอื่นก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกันแต่ก็ให้อยู่ครบวาระได้ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน ความเป็นธรรม เลือกปฏิบัติทำให้บางองค์กรได้ประโยชน์ บางองค์กรเสียประโยชน์ การมีผลย้อนหลังเป็นผลร้ายกระทบสิทธิหน้าที่ ซึ่งหลักกฎหมายปกติกฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลังเป็นผลร้าย อีกทั้งยังมีปัญหาความโปร่งใสในกระบวนการทางกฎหมายโดยนำเสนอทิศทางให้ กกต.ที่มีคุณสมบัติอยู่ต่อไปได้ แต่กลับมาเปลี่ยนแปลงในชั้นกรรมาธิการของ สนช.โดยที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่แสดงทาทีปกป้องหลักการที่ตนเองเสนแต่แรก ทั้งหมดจึงเป็นขัดต่อมาตรา 4 มาตรา 26 และมาตรา 27 และขัดกับหลักนิติประเพณีในการออกกฎหมายเพราะการลงมติในวาระ 3 ขัดต่อหลักการที่ลงมติในวาระแรก ซึ่งไม่ปรากฏถ้อยคำตามมาตรา 70 และยังขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มีการบันทึกในขณะร่างรัฐธรรมนูญว่า ให้กรรมการที่มีคุณสมบัติครบสามารถดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปจนครบวาระด้วย โดยได้นำเอกสารกว่า 200 หน้า มอบให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาประกอบการวินิจฉัยด้วย

“การเข้ามาดำรงตำแหน่งของ กกต.ชุดปัจจุบันซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วน และผ่านกระบวนการในการสรรหาโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 50 การออกกฎหมายให้พ้นไปในทันที ย่อมถือว่าเป็นการออกกฎหมายมาย้อนหลัง เป็นการไม่ชอบ เทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 1/2489 และคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 2277/2526 แม้ สนช.จะเห็นว่าการกำหนดบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการสร้างกลไกการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ที่สำคัญ แต่บทบัญญัตินั้นก็ต้องคำถึงถึงควาามร่วมมือระหว่างประชาชนทุกภาคส่วนกับหน่วยงานทั้งหลายของรัฐตามแนวทางประชารัฐภายใต้กฎเกณฑ์ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หลักความสุจริต หลักสิทธิมนุษยชน และหลักธรรมาภิบาล ที่จะทำให้สามารถขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน ทั้งในทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมตามคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย มิฉะนั้นการบัญญัติกฎหมายในลักษณะนี้เป็นการจำกัดสิทธิและรอนสิทธิของบุคคลที่มากเกินไปซึ่งมีความรุนแรงกว่าหลักกฎหมายที่ว่าตาต่อตา ฟันต่อฟัน”

นายสมชัยกล่าวด้วยว่า การขอให้วินิจฉัยในกรณีนี้ไม่ได้ทำเพราะยึดถือประโยชน์ส่วนตน หรือต้องการยับยั้งกระบวนการสรรหา กกต.ตาม พ.ร.ป.กกต.ที่กำลังดำเนินอยู่ให้ต้องหยุดชะงัก หรือใช้สิทธิคุ้มครองให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการสรรหา โดยต้องการให้การสรรหาดำเนินการต่อไป ส่วนผลจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องของอนาคต แต่ที่ยื่นคำร้องก็เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตและเพื่อไม่ให้เกิดมาตรฐานในการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ เพราะขณะนี้ยังมีร่าง พ.ร.ป.ของผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระบางองค์กรอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช. หรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระควรเป็นลักษณะเดียวกัน แต่ที่ผ่านมามีความแตกต่างสองประเภท คือ มีการเซตซีโร่ กสม.และกกต.แต่คุ้มครองให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ และอาจมีความแตกต่างในร่างกฎหมายอื่นอีก ทำให้มีมาตรฐานต่างกันขาดความเป็นเหตุผล ขัดหลักนิติธรรม จึงต้องยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะแม้ว่า สนช.จะเป็นองค์กรที่มีอำนาจออกกฎหมายแต่ต้องออกกฎหมายภายใต้หลักนิติธรรม และยึดหลักเสมอภาคด้วย ทั้งนี้ หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาของ สนช.แล้วก็จะมีอีกช่องทางหนึ่งที่ตนสามารถยื่นคำร้องโดยตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้

ด้านนายรักษเกชากล่าวว่า จะนำเรื่องรายงานต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวันอังคาร 10 ตุลาคม 2560 เพื่อพิจารณาว่าคำร้องอยู่ในอำนาจที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับไว้พิจารณาได้หรือไม่ จากนั้นจึงพิจารณาว่าร่าง พ.ร.ป.กกต.มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามที่นายสมชัยยื่นคำร้องหรือไม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาวินิจฉัย หากมีความเห็นต่างก็ต้องแจ้งให้นายสมชัยรับทราบ และไม่คิดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีแรงกดดันในการพิจารณาเรื่องนี้ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดินที่คุ้มครองผู้ตรวจการแผ่นดินให้อยู่ครบวาระไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะการพิจารณาคำร้องจะเป็นไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

กำลังโหลดความคิดเห็น