xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์ ร่วมถก แผนพัฒนาเขต ศก.3 ฝ่าย “อินโดฯ-มาเลย์-ไทย” 4.7 หมื่นล้านUS -ชูระเบียงศก.ภาคใต้ “ปัตตานี-ยะลา-นราฯ-เประ-กลันตัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์ ร่วมถก “แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย” อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย เร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ มูลค่า 4.7หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้าน รมว.เศรษฐกิจไทย ชงเปิดแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ “ปัตตานี - ยะลา - นราธิวาส - เประ - กลันตัน” ดันแผนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเน้น “นักท่องเที่ยวสูงอายุ” - จุดผ่านแดนใหม่เชื่อมด่านสะเดา - ด่านบูกิตกายูฮิตัม - ยกระดับมาตรฐานฮาลาล - ริเริ่มเมืองสีเขียว 1 เทศบาล 14 จังหวัดภาคใต้

วันนี้ (30 ก.ย.) มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (Indonesia - Malaysia - Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นตัวแทนรัฐบาลไทย ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 23 แผนงาน IMT-GT ณ จังหวัดบังกา - เบลิตุง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมี นายดาร์มิน นาซูติยอน รัฐมนตรีกระทรวงประสานกิจการเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ทำหน้าที่ประธานการประชุมฯ และดาโต๊ะ อับดุล เราะห์มาน บิน ดะห์ลัน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เข้าร่วมการประชุม

ทั้งนี้ รัฐมนตรี IMT-GT เห็นพ้องต่อการเร่งรัดการขับเคลื่อนแผนงานและโครงการต่างๆ ภายใต้แผนดำเนินงานระยะห้าปี ปี 2560 - 2564 เพื่อบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ปี 2579 ของแผนงาน IMT-GT โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนโครงการด้านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพมูลค่ากว่า 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางกายภาพทั่วทั้งภูมิภาค IMT-GT พร้อมทั้ง ให้ความสำคัญต่อการจัดสรรงบประมาณของประเทศ เพื่อการขับเคลื่อนโครงการด้านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพดังกล่าว นอกจากนี้ เห็นควรให้เร่งรัดการหารือความตกลงที่เกี่ยวกับกฎระเบียบด้านการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาค IMT-GT เพื่อให้มีข้อสรุปและเริ่มการปฏิบัติได้ในระยะเวลาที่ชัดเจน และสามารถใช้ประโยชน์จากการยกระดับความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคอย่างเต็มที่

โดยหนึ่งในความคืบหน้าที่สำคัญ คือ การเห็นชอบให้มีคณะทำงานย่อยด้านการเชื่อมโยงด้านการขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารภายใต้แผนงาน IMT-GT ให้มีการทบทวนและปรับปรุงบันทึกความเข้าใจของอนุภูมิภาคเกี่ยวกับการขยายการเชื่อมโยงทางอากาศที่ลงนามไว้เมื่อเดือนเมษายน 2538 เพื่อเพิ่มการเชื่อมโยงทางอากาศตาม นโยบายการเปิดเสรีทางการบินของอาเซียน โดยมุ่งหวังให้บรรลุผลการหารือทบทวนบันทึกความเข้าใจดังกล่าวร่วมกัน ก่อนนำเสนอให้มีการลงนามร่วมกันในที่ประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 11 ณ ประเทศสิงคโปร์ ที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายน 2561

นอกจากนี้ รัฐมนตรี IMT-GT แสดงความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร การรับรองเค้าโครงยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวระดับอนุภูมิภาคเพื่อการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวข้ามพรมแดนซึ่งเน้นเป้าหมายที่มุ่งสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเดียว (Single Destination) ที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และแข่งขันได้ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสเร่งกระบวนการหารือและการเสริมสร้างมาตรฐานฮาลาลเพื่อให้เกิดการยอมรับมาตรฐานฮาลาลระหว่างประเทศสมาชิก IMT-GT และเร่งดำเนินการสรุปกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (Sustainable Urban Development Framework: SUDF) ในพื้นที่ IMT-GT ซึ่งจะช่วยขยายข้อริเริ่มเมืองสีเขียวให้กว้างขวาง ไปยังเมืองอื่นๆ ที่มีศักยภาพ และสร้างเครือข่ายเมืองสีเขียวผ่านการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเมืองสีเขียว และการขยายการเชื่อมโยงภายใน อนุภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงทางอากาศ

มีรายงานว่า สำหรับ ประเด็นที่รัฐมนตรี IMT-GT ของไทยเสนอ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เน้นย้ำข้อเสนอแนะของฝ่ายไทยในระหว่างการประชุมฯ ใน 6 เรื่อง ได้แก่

1. การจัดลำดับความสำคัญโครงการเชื่อมโยงทางกายภาพในแต่ละแนวระเบียงเศรษฐกิจตามมิติการเชื่อมโยงที่เหมาะสมและเพิ่มแนวระเบียงเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการเชื่อมโยงทางกายภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามข้อเสนอโครงการที่เสนอต่อผู้นำ พร้อมทั้งคำนึงถึงผลกระทบจากการพัฒนาที่มีดุลยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และ ความมั่นคง และโอกาสการเชื่อมโยงกับการพัฒนาของพื้นที่เป้าหมายของรัฐบาล เช่น การเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยกับโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายภาคตะวันออก (East Coast Rail Line: ECRL) ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีโอกาสเชื่อมโยงการพัฒนาระดับภูมิภาคตามทางสายไหมใหม่ของจีน (Belt and Road Initiative) โดยเปิดแนวระเบียงเศรษฐกิจ ปัตตานี - ยะลา - นราธิวาส - เประ - กลันตัน เป็นยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงใหม่ และการหารือถึงโอกาสการเชื่อมโยงเขตเสรีทางโทรคมนาคมรองรับการค้าอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแดนเชื่อมโยงระดับสากล เป็นต้น

2. การสนับสนุนการประชาสัมพันธ์กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวข้ามพรมแดนเพื่อมุ่งไปสู่การเป็น Single Destination และการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวและทำการตลาดเพื่อรองรับตลาดใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงอายุ เป็นต้น โดยชื่นชมกรอบยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว IMT-GT และแผนปฏิบัติการ ซึ่งธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการจัดทำ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานในการพัฒนาการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคให้มีความยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ และมีความครอบคลุม พร้อมทั้งตอกย้ำถึงความสำคัญของการยกระดับเรื่องความเชื่อมโยงให้เกิดผลเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยวร่วมกัน

3. การเร่งรัดการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกในการขนส่งผ่านแดน เพื่อให้เกิดการประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนการเร่งรัดการเชื่อมโยงด้านการผ่านแดนที่มีอุปสรรค เช่น จุดผ่านแดนใหม่เชื่อมโยงระหว่างด่านสะเดา - ด่านบูกิตกายูฮิตัม

4. การเร่งรัดความร่วมมือที่สามารถสร้างรายได้และส่งผลกระทบต่ออนุภูมิภาคอย่างรวดเร็วบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวที่เป็นเป้าหมายเดียวกัน การยกระดับมาตรฐานฮาลาลที่เท่าเทียมกันเพื่อรองรับการรับรองตรามาตรฐานฮาลาลร่วมกันและเพื่อยกระดับการเข้าสู่ตลาดสากล ความร่วมมือด้านการแปรรูปเกษตรระดับสูงของยางพารา ปาล์มน้ำมัน ประมง เป็นต้น พร้อมทั้งการเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าในอนุภูมิภาคระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีศักยภาพ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาสมดุลทางชีวภาพและป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

5. การขยายการพัฒนาตามข้อริเริ่มเมืองสีเขียวให้กว้างขวางไปยังเมืองอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ ไทยอาจเริ่มการดำเนินการตามกรอบ SUDF โดยคัดเลือกจังหวัดละ 1 เทศบาลในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้เป็นพื้นที่นำร่อง ก่อนขยายไปสู่เทศบาลอื่นๆ โดยปรับยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับความสามารถของแต่ละเมือง เป็นต้น

6. การพัฒนาบุคลากรให้เชื่อมโยงกับระบบการศึกษาในทุกระดับชั้นโดยครอบคลุมทั้งระดับอุดมศึกษาภายใต้เครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT และขยายไปสู่ความร่วมมือระดับสถาบันอาชีวศึกษา สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อการสร้างตลาดแรงงานที่เชื่อมโยงระหว่างกัน และมีการรับรองทักษะฝีมือและมาตรฐานแรงงานร่วมกันเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศมาเลเซียรับเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 24 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แผนงาน IMT-GT ในปี 2561 ที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น