xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉาก “เรือเหาะ” ฉาว แรงกระแทกอีกดอกหนักๆ ถึง “ป.ป๊อก” !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา



ก็ถือว่าปิดฉากจบสิ้นกันสักทีสำหรับ “เรือเหาะ” อันอื้อฉาวของกองทัพบก ที่ตามข้อมูลรายงานว่าหลังจากที่ “ประจาน” ความล้มเหลวมาตลอดระยะเวลาถึง 8 ปีเต็ม เพราะล่าสุด พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก คนปัจจุบัน สั่งยุติการใช้งานแล้ว โดยอ้างว่าหมดอายุการใช้งานแล้ว

แน่นอนว่า สำหรับเรือเหาะดังกล่าวที่มีมูลค่าการสั่งซื้อด้วย “วิธีพิเศษ” ใช้งบประมาณ 350 ล้านบาทโดยเข้าประจำการมาตั้งแต่ปี 2552 ในยุคที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอยู่ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่แนวคิดที่ซื้อ “เรือเหาะ” ซึ่งเป็นวิธีการทางยุทธการในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1

อีกทั้งเป้าหมายที่นำมาใช้สำหรับการหาข่าวสอดแนมกลุ่มผู้ก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตามป่าเขา ทั้งที่จนถึงบัดนี้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่ทราบตัวตนของกลุ่มโจรเหล่านี้ว่าเป็นใครบ้าง และมีศักยภาพแบบไหนกันแน่ ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท ไม่ใช่การตั้งค่ายใหญ่ในป่าเหมือนยุคของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต

นี่หากพูดกันเฉพาะเรื่องยุทธการในการปฏิบัติหากเรือเหาะมีประสิทธิภาพใช้ได้จริง ก็ยังใช้ไม่ได้ผล ไม่ต้องพูดถึงเรื่องความด้อยประสิทธิภาพ แพงเกินจริง และใช้งานไม่ได้ ตามรายงานมักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2555 เรือเหาะลำนี้ได้เกิดอุบัติเหตุต้องลงฉุกเฉินและทำให้นักบินประจำครื่องได้รับบาดเจ็บจำนวน 4 ราย ขณะกระโดดหนีตายลงมาในระยะ 15 เมตร ที่สนามบินบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เหตุการณ์ครั้งนั้นยังเกิดขึ้นในช่วงที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก ไปตรวจราชการที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พอดี หรือก่อนหน้านั้น เรือเหาะเจ้าปัญหาดังกล่าวยังเคยร่อนลงฉุกเฉินกลางทุ่งนาในจังหวัดปัตตานีมาแล้ว โดยมีการสันนิษฐานว่าเกิดจากบอลลูน “รั่ว” หรือ “แตก”

สำหรับเรือเหาะและระบบตรวจการณ์ กองทัพบกในยุค พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบกโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เสนอคณะรัฐมนตรีจัดซื้อเพื่อภารกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในราคา 350 ล้านบาท แยกเป็นตัวเรือเหาะ 260 ล้านบาท กล้องตรวจการณ์ และระบบภาคพื้น รถต่างๆ 70 ล้านบาท โดยเข้าประจำการเมื่อปี 2552 แต่ต่อมาเกิดปัญหารั่ว และต้องเติมก๊าซฮีเลี่ยมที่มีราคาแพงจนต้องจอดเก็บในโรงจอดที่กองพลทหารราบที่ 15 (พล ร.15) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผู้บัญชาการทหารบก ได้จ้างบริษัทเอกชนมาดูแลรักษาปีละ 50 ล้านบาท และได้นำออกมาบินตรวจการณ์บ้าง แต่ถูกวิจารณ์ว่าบินต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด จนที่สุดก็ต้องจอดเก็บไว้จนหมดอายุดังกล่าว

แน่นอนว่า กรณี “เรือเหาะ” อันอื้อฉาวลำนี้ หลังจากที่ปลดประจำการ หรือจะเรียกว่าหมดอายุและเลิกใช้ไปแล้วอย่างถาวรนับจากนี้ แต่เมื่อใดก็ตามที่เป็นข่าวขึ้นมาก็ย่อมทำให้ “ป.ป๊อก” หรือ “พี่รอง” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่เวลานี้กินตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นต้อง “ผวา” ทุกที เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ทุกสายตาก็จับจ้องมองมาที่เขาทุกที เพราะเรือเหาะของกองทัพบกกลายเป็นสัญญลักษณ์ของความล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพสูญเสียงบประมาณของชาติแบบที่ไม่คุ้มค่า พร้อมๆกับความสงสัยในเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า “แพงเกินปกติ” และยังเป็นการจัดซื้อด้วย “วิธีพิเศษ”

นอกเหนือจากนี้ ยังมีเรื่องของการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด “จีทีเอ็กซ์ 200” หรือที่เรียกกันว่า “ไม้ล้างป่าช้า” ก็เกิดในยุคของเขาเช่นเดียวกัน นี่ยังไม่นับเรื่องโครงการจัดซื้อรถหุ้มเกราะล้อยางจากประเทศยูเครนที่กำลังมีปัญหาส่งมอบล่าช้าอยู่ในขณะนี้

เรื่องแบบนี้แม้ไม่อยากพูดกันมาก เพราะมันเจ็บปวดสำหรับคนไทยกับความไม่ชอบมาพากล และน่าสงสัยในการใช้งบประมาณของรัฐที่แพงและไม่คุ้มค่า และมันก็ช่วยไม่ได้ที่ทำให้การจัดซื้ออาวุธของกองทัพทุกครั้งจะถูกตั้งคำถามถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง เพราะมันมีตัวอย่างให้เห็นอยู่ทนโท่ และทุกครั้งเรื่องก็ “ถูกปิดเงียบ” หรืออ้างว่าเป็นเรื่องลับ เป็นความมั่นคงของชาติเปิดเผยไม่ได้ กว่าจะรู้อีกทีก็สายไปเสียแล้ว หรือสร้างความเสียหายไปแล้ว

สำหรับกรณีของ “เรือเหาะ” หรือ “เรือเหี่ยว”ลำนี้ แม้ว่าจะมีการปลดระวางหรือเลิกใช้งานปล่อยให้ผุพังไปตามกาลเวลา เรื่องราวอาจจะเริ่มเลือนหายไป แต่สำหรับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รับรองว่า ต้องผวาทุกครั้งเมื่อได้เห็นเรือเหาะ โดยเฉพาะหากมีการพูดถึงกันในช่วงเวลานี้ หลังจากไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมาเพิ่งชิ่งหนีสุดชีวิตกรณีเซ็นต์ชื่อในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้บริษัทลูกในเครือของบริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดงเช่าที่ป่าชุมชนจนสังคมโวยวายและสร้างภาพลบกับตัวเขาและรัฐบาลรวมไปถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แบบจังเบอร์

ดังนั้น หากบอกว่า กรณีดังกล่าวโดยเฉพาะเรือเหาะกำลังเป็นแรงกระแทกดอกใหญ่ไปยัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก่อนที่จะถูกเข็นเข้าไปเก็บในโกดังกลายเป็นตำนานความอื้อฉาวในที่สุด !!
กำลังโหลดความคิดเห็น