xs
xsm
sm
md
lg

กกต.แจงเน้นภารกิจสำคัญหลังประกาศใช้ พ.ร.ป. ห่วงปมเลือกตั้งรวมประกาศผลทำโมฆะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
“กกต.สมชัย” แจงการทำงานหลัง พ.ร.ป.กกต.ประกาศใช้ เน้นทำเฉพาะภารกิจจำเป็น ห่วงปมต้องจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วันรวมประกาศผลหรือไม่ หวั่นนำไปสู่การเลือกตั้งโมฆะ เตรียมถก 19 ก.ย.นี้ ทำหนังสือสอบถามศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

วันนี้ (14 ก.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวกรณีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วว่า นับจากวันนี้ไปจะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆเกิดขึ้นทันที คือ กกต.จังหวัดทั้ง 14 จังหวัดจะหมดสภาพทันที ส่วน กกต.กลางจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่ ซึ่งจะทำภารกิจเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน ส่วนอะไรที่เกินขอบเขตความจำเป็น หรือเป็นประเด็นเกี่ยวกับนโยบายจะต้องให้ กกต.ชุดใหม่เป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้น อะไรที่ตัดสินใจแล้วจะผูกพันกับชุดใหม่มากเกินไปก็จะพยายามหลีกเลี่ยง

ส่วนกระบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่จะแบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา คือ ช่วงที่ 1 คือ การตั้งคณะกรรมการสรรหา ตามองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญ กระบวนการนี้จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน เท่ากับว่าวันที่ 12 ธ.ค.จะมี 7 รายชื่อส่งให้ทาง สนช. ช่วงที่ 2 คือ สนช.จะนำรายชื่อดังกล่าวมาพิจารณาโดยมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบประวัติ อาจจะมีการเชิญผู้ได้รับการสรรหาเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ หรือเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ส่งข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผู้ที่ได้รับการสรรหา ก่อนที่จะเสนอชื่อให้ที่ประชุม สนช.เห็นชอบ กระบวนการนี้จะใช้เวลาดำเนินการ 45 วัน

ช่วงที่ 3 เมื่อ สนช.ลงมติเห็นชอบรายชื่อเรียบร้อยแล้ว บุคคลที่มีรายชื่อดังกล่าวจะต้องดำเนินการลาออกจากการทำงานทุกประเภทภายใน 15 วัน และนำหลักฐานการลาออกทั้งหมดส่งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และช่วงสุดท้าย คือ ขั้นตอนของการทูลเกล้าฯ ถวาย และรอการโปรดเกล้าฯ โดยขั้นตอนนี้เป็นเรื่องของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งไม่สามารถที่จะกำหนดเวลาได้ แต่โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตกระบวนการดังกล่าวใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20 วัน ดังนั้น กระบวนการสรรหาจะใช้เวลาประมาณ 170 วัน หรือ เกือบ 6 เดือน คือประมาณวันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 15 มีนาคม 2561 แต่ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวอาจจะเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้

“ปัจจัยที่ทำให้กระบวนการสรรหาล่าช้าออกไปได้ คือ ถ้าหากคณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อต่อ สนช. แต่ สนช.ไม่เห็นด้วยกับรายชื่อดังกล่าว เท่ากับคณะกรรมการสรรหาจะต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ โดยไม่มีการจำกัดจำนวนรอบว่าจะสรรหากันกี่รอบ เพราะจะต้องดำเนินไปจนกว่า สนช.จะพอใจกับรายชื่อ ถ้าเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่จะต้องนับไปอีก 4 เดือนครึ่งต่อหนึ่งรอบการสรรหา”

นายสมชัยกล่าวถึงประเด็นปัญหาบทบัญญัติที่กำหนดให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน150 วันนับตั้งแต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับประกาศใช้จะรวมระยะเวลาการประกาศผลการเลือกตั้งด้วยหรือไม่นั้น คำตอบในเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน เพราะนักกฎหมายก็ยังมีการตีความที่แตกต่างกัน และที่ผ่านมา กกต.เคยสอบถามไปยัง กรธ. และกฤษฎีกาก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เรื่องนี้จึงเป็นเงื่อนปมที่สำคัญซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะอีกกรณีหนึ่งได้ ถ้าหากมีผู้นำเรื่องนี้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ และถ้าศาลชี้ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญจะต้องมีผู้รับผิดชอบทางอาญาและแพ่ง ซึ่งใครตัดสินใจ คนนั้นรับผิดชอบด้วย อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กกต.วันที่ 19 กันยายนนี้ กกต.จะหารือถึงกรณีดังกล่าวว่าจำเป็นต้องทำหนังสือไปสอบถามศาลรัฐธรรมนูญถึงความชัดเจนในประเด็นดังกล่าวหรือไม่

นายสมชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมจะหารือถึงการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็น คือ การตัดอำนาจ กกต.แต่ละคนในการระงับยับยั้งการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตในหน่วยหรือเขตเลือกตั้งที่ไปพบ และประเด็น กกต.ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เอง ต้องมอบให้ส่วนราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ โดยยืนยันว่าไม่มีประเด็นเซตซีโร่ เพราะ กกต.ไม่ได้คิดว่าอยากจะอยู่ต่อแล้ว

นายสมชัยยืนยันด้วยว่า หากมีปัจจัยให้กระบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่เกิดความล่าช้าก็จะไม่กระทบต่อกรอบการเลือกตั้ง เนื่องจาก กกต.ชุดนี้จะทำหน้าที่ไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่ ดังนั้น หากกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับประกาศใช้ครบ แต่ยังไม่ได้ กกต.ชุดใหม่ ก็จะเป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดปัจจุบันจัดการเลือกตั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น