xs
xsm
sm
md
lg

กทม.กำชับ “เทศกิจ 50 เขต” บังคับใช้ ระเบียบฯ แบ่งเงินรางวัลนำจับ เข้ม “จยย.เดลิเวอรี ขับขี่บนทางเท้า”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทม. กำชับ “เทศกิจ 50 เขต” บังคับใช้ “ระเบียบฯ แบ่งเงินรางวัลนำจับ” อย่างเคร่งครัด เข้ม “จักรยานยนต์ร้านอาหารเดลิเวอรี - ร้านซ่อมรถขวาง / ขับขี่บนทางเท้า” หวั่นคนกรุงไม่เชื่อมั่น ยก พ.ร.บ. ความสะอาดฯ ปี 35 เอาผิดอาญา “จนท. เทศกิจ” หากพบสมรู้ / ปลอมเอกสาร ด้าน “ผู้ว่าฯ กทม.” ให้อำนาจโยกย้ายได้ทันที ชี้ หาก “ตร./ เทศกิจ” กระทำความผิดเอง ให้สอบเป็นรายกรณี พร้อมประสาน “นครบาล” ยกร่างคู่ขนานกับ กทม.

วันนี้ (7 ก.ย.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้เรียกประชุมระหว่างฝ่ายบริหารกับหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขต 50 เขต เพื่อซักซ้อมแนวทางการดำเนินการตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแบ่งค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบให้แก่ผู้แจ้งความนำจับตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560 ที่ กทม. เพิ่งประกาศใช้เมื่อ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา

“โครงการนี้ประชาชนให้ความไว้วางใจและมีความเชื่อมั่นในโครงการ โดยจับตามองว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายนั้นจะดำเนินการได้จริงจังหรือไม่ แต่ปัญหาคือประชาชนนั้นไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เนื่องจากมองว่า เจ้าหน้าที่มีส่วนได้เสียกับผู้กระทำความผิด” รองผู้ว่าฯ ที่กำกับเทศกิจ แสดงความเห็น

อย่างไรก็ตาม ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ในมาตรา 48 กำหนดว่า “ต้องให้รางวัลแก้ผู้แจ้งเบาะแสกึ่งหนึ่ง มาตรา 51 กำหนดว่า ให้ถือว่าประชาชนผู้พบเห็นการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมาตรา 59 กำหนดว่า พนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือพนักงานหน้าที่ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามาตรา 51 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามที่มีการแจ้งความนั้น และพนักงานเจ้าหน้าที่ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้น จะต้องมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองและกฎหมายอาญา

ทั้งนี้ ผู้บริหาร กทม. ยังชี้แจงถึงเอกสารหลักฐานการขอค่าปรับจากการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 นั้น เดิมให้ผู้แจ้งความนำจับ “ลงลายมือชื่อ” หรือ “พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือ” อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ได้ปรับแก้ไขเป็น “ให้ลงลายมือชื่อ” ของผู้แจ้งความนำจับ และ “พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือ” ด้วย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการขอแบ่งเงินรางวัลนำจับโดยไม่สุจริต เช่น มีการปลอมแปลงลายมือชื่อกัน อาจมีการสมรู้ร่วมกันแจ้งความนำจับเพื่อให้ได้มาซึ่งส่วนแบ่งค่าปรับ

นอกจากนี้ หากพบว่า เจ้าหน้าที่เทศกิจ ผู้รับผิดชอบไม่ถือปฏิบัติดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเข้มงวดกวดขัน จะมีการสั่งพิจารณาโยกย้ายให้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่น ทั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ได้มอบอำนาจให้ รองผู้ว่าฯ ที่กำกับสำนักเทศกิจ นายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. และ นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกทม. เป็นคณะกรรมการพิจารณาเสนอปรับโยกย้ายกรณีนี้ได้ตามคามเหมาสม

มีรายงานว่า ผู้บริหาร กทม. ยังชี้แจงถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตำรวจ หรือเจ้าพนักงานเทศกิจ กระทำความผิดกฎหมายว่าด้วย การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองจะดำเนินการอย่างไร ว่า “จะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป ว่า การที่เจ้าหน้าที่กระทำเช่นนั้น มีเหตุผลหรือความจำเป็นหรือไม่อย่างไร”

เช่น มีความจำเป็นต้องขับรถจักรยานยนต์ขึ้นไปบนทางเท้าหรือทางสาธารณะ เพื่อไปแก้ไขปัญหาการจราจรข้างหน้า ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะทำให้การจราจรติดหนัก หรือการที่เจ้าพนักงานเทศกิจ ขับรถยนต์ของทางราชการขึ้นบนทางเท้าก็เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เช่น ดำเนินการยกรถจักรยานยนต์ที่กระทำความผิด เป็นต้น

ส่วนประเด็นการปรับและอัตราค่าปรับนั้น ฝ่ายบริหาร กทม. ระบุว่า ในทางปฏิบัติอาจมีความเข้าใจผิด ว่าให้ปรับไม่เกินจำนวนหนึ่งๆ เช่น ให้ปรับจำนวนไม่เกิน 500 บาท ซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นให้ดำเนินการตาม หนังสือศาลาว่าการ กทม. ที่ กท 8002/1802 ลงวันที่ 13 พ.ย.2535 เรื่องการรายงานผลการปฏิบัติตามแบบที่ 6 และอัตราการเปรียบเทียบตาม พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535

“มีแนวทางกำหนดไว้ว่า ควรเปรียบเทียบปรับอย่างต่ำไว้เป็นจำนวนเท่าใด และให้ดำเนินการปรับตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเด็ดขาดเพื่อให้ผู้กระทำความผิดนั้นเข็ดหลาบ โดยพิจารณาจากพฤติกรรมการกระทำความผิด ความร้ายแรง ผลกระทบ และการกระทำความผิดซ้ำซาก เป็นรายกรณีไป แต่ต้องดำเนินการปรับอย่างจริงจังตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด”

ผู้บริหาร กทม. ยังได้กำชับในเรื่องการรักษาความลับของผู้แจ้งความนำจับ โดยเฉพาะกรณีหากแจ้งแล้วอาจจะไปกระทบกระทั่งจนเกิดปัญหาความขัดแย้ง ต้องยำว่า “ผู้กระทำความผิด ไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้น ข้อมูลต่างๆ ของผู้แจ้งความนำจับหรือผู้แจ้งเบาะแสผู้กระทำความผิดนั้น จะถูกเก็บรักษาเป็นความลับไม่มีการเปิดเผยและจะไม่ทำให้ผู้แจ้งจับนั้นได้รับผลกระทบหรือความเสียดายใดๆ ทั้งสิ้น”

ทั้งนี้ ยังได้ร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดย บช.น. จะมีการ “ยกร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแบ่งค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบเทียบให้แก่ผู้แจ้งความนำจับฯ” เช่นเดียวกับระเบียบฯ ของ กทม. ขณะเดียวกัน เทศกิจทุกเขต ก็ต้องประเมินผลการปฏิบัติ ต่อระเบียบฯฉบับนี้อย่างใกลัชิด รวมทั้งสร้างเครือข่ายตลอดเวลาด้วย

“ฝ่ายบริหาร กทม. ยังได้ยกตัวอย่าง ปัญหาการจอดรถจักรยานยนต์บนทางเท้า นอกจากร้านจำหน่ายสินค้า ร้านจำหน่ายจักรยานยนต์ ยังมีกรณีของ ร้านอาหารเดลิเวอรี หรือร้านประกอบกิจการซ่อมรถจักรยานยนต์/รถยนต์ รวมทั้งวินจักรยานยนต์ที่จอดขวางทางสาธารณะ ในหลายพื้นที่ ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญที่ สำนักงานเขตต้องเคร่งครัดในเรื่องกฎหมายด้วย”

มีรายงานว่า ระเบียบฉบับนิ้ ครอบคลุมถึงการจอดหรือขับขี่รถจักรยานยนตร์บนทางเท้า การทิ้งขยะในแม่น้ำ คู คลองและพื้นที่สาธารณะ หาบเร่ - แผงลอย การลักลอบติดป้ายโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดดังกล่าว สามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ได้ทันที ผ่านช่องทางดังนี้

1. สายด่วนสำนักเทศกิจ 02-465-6644 2. ไปรษณีย์ ส่งถึงสำนักเทศกิจ เลขที่ 1 ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี 10600 3. อีเมล citylaw_bma@hotmail.com 4. ทางเฟซบุ๊กสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร 5. ทางแอปพลิเคชันไลน์ ในกลุ่ม http://line.me/R/ti/g/NM4UVW0C2 และ 6. ทางสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต
กำลังโหลดความคิดเห็น