xs
xsm
sm
md
lg

แม้วด่าศาล-ตัดตอนคดี 7 ตุลาฯ-เด้ง ผอ.สำนักพุทธ คนละเรื่องเดียวกัน !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา



ทั้งสามเรื่องข้างต้นแม้มองเผินๆ ดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เพราะมันมีที่มาคนละเรื่องคนละราว ไม่น่าจะเชื่อมโยงถึงกันได้ แต่หากพิจารณากันถึงเป้าหมายข้างหน้า มันก็ไม่อาจมองข้ามไปได้ เพราะทุกเรื่องที่ประดังเข้ามาสามารถมองกันแบบ “คนละเรื่องเดียวกัน” กันเลยทีเดียว

แน่นอนว่า ต้องมีการอธิบายเพื่อให้มองเห็นถึงเส้นทางเชื่อมต่อไปถึงอนาคตข้างหน้า อย่างน้อยก็ในช่วงที่เรียกว่า “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” แบบ “เฉพาะกาล 5 ปี” นี้

เริ่มจาก “เรื่องฮอต” ที่ ทักษิณ ชินวัตร โพสต์ข้อความแบบเท่ๆ ผ่านทางทวิตเตอร์ “โผล่หัว” ขึ้นมาหลังจากเงียบหายไปนาน และที่สำคัญ เป็นการโพสต์หลังจากน้องสาวตัวเอง คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หนีหมายจับไม่ยอมมาฟังคำพิพากษาในคดีที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบปล่อยปละละเลย ทำให้โครงการรับจำนำข้าวเกิดความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งตามข่าวเชื่อว่าเธอหนีไป “กบดาน” กับเขาที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นั่นแหละ

หากพิจารณาจากข้อความดังกล่าวที่ระบุว่า “ไม่มีความเลวร้ายใดที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือในนามของกระบวนการยุติธรรม” โดยอ้างอิงคำพูดของนักคิดนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง

แม้ว่าข้อความข้างต้นของ ทักษิณ ชินวัตร จะพูดถึงกระบวนการยุติธรรมโดยรวม แต่เมื่อพิจารณาจากน้ำหนักแล้วเทมาทางศาลมากกว่าใคร ซึ่งอาจเป็นเพราะที่ผ่านมาเขาถูกคำพิพากษายึดทรัพย์ ถูกพิพากษาจำคุก และถูกศาลออกหมายจับหลายคดี และล่าสุด ก็อาจวิตกจริตว่าอาจมีคำพิพากษาในทางลบกับน้องสาวของเขา คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนต้องหนีไปกบดานเอาไว้ก่อนเพื่อรอฟังคำพิพากษาที่ศาลนัดใหม่ในวันที่ 27 กันยายนนี้ ว่าจะถูกจำคุกหรือไม่

จากข้อความดังกล่าวสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้กล่าวโจมตีรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือระดับตัวผู้นำคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เลยแม้แต่น้อย และหากมองในมุมนี้มันก็เพิ่มน้ำหนักความเชื่อที่ว่า การหลบหนีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นการเปิดทาง หรือ “หรี่ตา” ให้ ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามว่าทั้งสองฝ่ายมีการ “เกี้ยเซี้ยะ” หมายถึง ทักษิณ ยอมถอยไปก่อนชั่วคราว โดยมีการจับตาหลังการเลือกตั้งว่าพรรคเพื่อไทยจะร่วมรัฐบาลกับ “นายกฯคนนอก” ด้วยเหตุผลเพื่อความปรองดอง “ให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าหรือไม่ อย่างน้อยก็ช่วงเปลี่ยนผ่านตามบทเฉพาะกาล 5 ปีหรือไม่” น่าติดตาม

อีกเรื่องที่ชวนติดตามไม่แพ้กัน ก็คือ คดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ปี 2551 ที่ก่อนหน้านี้ ศาลได้ตัดสินยกฟ้อง จำเลยทั้งสี่คน คือ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯในขณะนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล โดยล่าสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นอุทธรณ์เพียงแต่จำเลยที่ 4 คือ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว เพียงคนเดียว ซึ่งก็สร้างความสงสัยและวิจารณ์กันว่านี่คือ การ “เกี้ยเซี๊ยะ” และเลือกปฏิบัติ เป็นการ “ตัดตอน” เพื่อปกป้องฝ่ายการเมืองและเครือข่ายคนใกล้ชิดของ “ผู้มีอำนาจ” โดยสองคนแรกคือ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็น “น้องเขย” ของ ทักษิณ ชินวัตร รวมไปถึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันส่วน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สวรรณ เป็นน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งที่ผ่านมา มีความพยายามถอนฟ้องคดีมาแล้วหลายครั้ง โดยมีความพยายามผ่าน พล.ต.อ.วัชรพล ปราสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. อดีตหน้าห้องของ พล.อ.ประวิตร และได้รับการโหวตแต่งตั้งในยุคคสช.

ขณะที่ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ที่ถูก ป.ป.ช. เลือกอุทธรณ์เพียงรายเดียว โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. อ้างว่า ที่เลือกอุทธรณ์รายดังกล่าว เพราะสามารถหวังผลในรูปคดีได้ แต่ก็มีเสียงโต้แย้งว่าหากจะอุทธรณ์ก็ต้องยื่นไปทั้งหมด เพื่อให้ศาลเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด และที่ผ่านมา มติของ ป.ป.ช. ชุดเดิมก็มีมติว่าทุกคนมีความผิด ดังนั้น จึงส่อเจตนา “ตัดตอน” เพื่อช่วยเหลือเฉพาะเครือข่ายผู้มีอำนาจ “ลอยแพ” บางคนที่ไม่มีความหมาย

อีกกรณีหนึ่งที่น่าจับตา ก็คือ การโยกย้าย พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.) ไปเป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีการเปิดเผยออกมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. เป็นคนเสนอโยกย้ายเอง อ้างว่า ภารกิจที่ให้ดำเนินการนั้นเสร็จสิ้นแล้ว และยังมีการอธิบายเพิ่มเติมว่าตำแหน่งใหม่นั้นมีขอบเขตกว้างขวางกว่าและก้าวหน้ากว่า

ซึ่งจะจริงหรือไม่ไม่รู้ รู้แต่ว่าการโยกย้ายดังกล่าวมันก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ และมีความไม่ชอบมาพากลปะปนกันอยู่ และที่สำคัญ มันเกิดขึ้นในแบบ “กะทันหัน” ในช่วงเวลาเดียวกับที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หนีพอดี และถูกตั้งคำถามว่า “หรี่ตา” ให้หนี หรือ “พาหนี” หรือไม่ เพราะหากย้อนพิจารณาแบบเชื่อมโยงทบทวนความจำก็คงจำกันได้ว่า พ.ต.ท.พงศ์พร คนนี้ เมื่อเข้ามาเป็นผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนา ก็เข้ามาสะสางทุจริตของ พศ. และวัดต่างๆ ที่เรียกกันว่า “ทุจริตเงินทอนวัด” ฟาดฟันและกระชากหน้ากากพวกที่ “อาศัยผ้าเหลืองหากิน” มาช้านาน จนได้รับเสียงชื่นชมจากคนเสื่อมศรัทธาวงการพระสงฆ์ที่ล้าหลังมานาน

ที่น่าสนใจก็คือ ความเคลื่อนไหวของระดับ “พระเถระ” บางรูปที่ออกมากดันให้เปลี่ยนตัวผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาคนนี้ พร้อมกับขู่ “คว่ำบาตร” และแน่นอนว่า เมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวนด์พระสงฆ์พวกนี้ล้วนเป็นพวกเดียวกับเครือข่ายทักษิณ และ “วัดพระธรรมกาย” มาอย่างแนบแน่น เห็นภาพแบบนี้บางทีมันก็พอมองออกได้เหมือนกัน และบังเอิญว่าเป็นช่วงเวลาที่พอเหมาะกันพอดี

ถึงได้บอกว่าความเคลื่อนไหวทั้งหมดดังกล่าวแม้จะ “เป็นคนละเรื่อง” แต่มาถึงตอนนี้ “มันเป็นคนละเรื่องเดียวกัน” และสะท้อนภาพออกมาในแนวเกี้ยเซี้ยะชัดเจนขึ้นกว่าเดิม !!
กำลังโหลดความคิดเห็น