xs
xsm
sm
md
lg

มท.ปรับเกณฑ์ช่วย “ลูกกำพร้าต่างด้าว” ที่เกิดในไทยแต่ไม่ได้สัญชาติ ได้สิทธิผ่อนผันอยู่ในไทย เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มหาดไทย ปรับเกณฑ์เพิ่มช่วยเหลือ “ลูกกำพร้าต่างด้าว” ที่เกิดในประเทศไทยแต่ไม่ได้สัญชาติ จากบิดามารดาหลบหนีเข้าเมือง แต่ต้องอยู่ในการเลี้ยงดูของ “สถานสงเคราะห์เด็ก” สังกัด พม. ได้สิทธิผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย พร้อมกำหนดให้ลูกกำพร้า สามารถยื่นคําขอต่อนายอําเภอหรือผู้อํานวยการเขตในการใช้สิทธิดังกล่าวได้

วันนี้ (17 ส.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย ว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวง กําหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ. 2560 ลงนาม โดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ไว้ ณ วันที่ 10 ส.ค. 2560 โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551

โดยในกฎกระทรวงนี้แก้ไขคำยามว่าด้วย “เด็กกําพร้า” หมายความว่า เด็กซึ่งเกิดในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้สัญชาติไทย และบิดาและมารดาของเด็กนั้นเสียชีวิต หรือไม่ปรากฏบิดาและมารดาหรือไม่สามารถสืบหาบิดา และมารดาของเด็กนั้นได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในความอุปการะของบุคคลหรือสถานสงเคราะห์ที่ได้รับอนุญาตให้ จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก หรือเป็นเด็กเร่ร่อน

สำหรับผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง ให้มีฐานะการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเช่นเดียวกับบิดา หรือมารดาในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้นั้นมากกว่า ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด เว้นแต่กรณีผู้เกิดจากบิดาและมารดา ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ให้มีฐานะเช่นเดียวกับบิดาและมารดา และผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมบิดาหรือมารดา

ส่วน เด็กกําพร้า ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีหนังสือรับรอง ให้ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย ทั้งนี้ในกรณีที่ฐานะการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยของบิดาและมารดา หรือบิดาหรือมารดา สิ้นสุดลง ให้ฐานะการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยนั้นสิ้นสุดลงด้วย เว้นแต่ผู้นั้นมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดให้คงฐานะการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อไปได้

“ดังนี้ เป็นผู้มีอายุไม่น้อยกว่าสิบแปดปี หรือบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ยกเว้นบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งได้รับการพิสูจน์หรือรับรองจากต่างประเทศว่าเป็นคนสัญชาติของประเทศนั้นและสมัครใจที่จะกลับออกไปนอกราชอาณาจักร, ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศที่บิดาหรือมารดามีหรือเคยมีภูมิลําเนาหรือเคยอาศัยอยู่ได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด ที่งนี้ ต้องมีผู้ปกครอง สามี ภรรยา หรือบุตร เป็นผู้มีสัญชาติไทย, ต้องมีภูมิลําเนาเป็นหลักแหล่งในราชอาณาจักรและพํานักอยู่ในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ให้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้กลับเข้ามาในราชอาณาจักรภายในระยะเวลาที่กําหนด, ต้องอยู่ระหว่างการศึกษาในสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง, เป็นผู้ที่ได้ทําคุณประโยชน์ให้แก่สังคม”

ทั้งนี้ เด็กกำพร้า ในกรณีนี้ ซึ่งเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย หรือผู้มีส่วนได้เสียซึ่งประสงค์จะขอหนังสือรับรอง การคงฐานะการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อไปให้ยื่นคําขอพร้อมด้วยเอกสาร หรือหลักฐานต่อนายอําเภอ หรือผู้อํานวยการเขต ณ ที่ว่าการอําเภอหรือสํานักงานเขตแห่งท้องที่ที่ผู้นั้น มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ แล้วแต่กรณี เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้นายอําเภอ หรือผู้อํานวยการเขตมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นคําขอทราบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคําขอและหนังสือรับรองให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมการปกครองประกาศกําหนด

กฎกระทรวง ยังระบุว่า ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยและมีอายุไม่น้อยกว่าสิบแปดปี อาจถูกเพิกถอนฐานะการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ เมื่อปรากฏว่า กระทําการใดๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือขัดต่อประโยชน์ ของรัฐหรือเป็นการเหยียดหยามประเทศชาติ หรือกระทําการใดๆ อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รัฐมนตรีโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ อาจสั่งเพิกถอนฐานะ การอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยของบุคคล หรือสั่งให้ผู้นั้นอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย ต่อไปก็ได้ ทั้งนี้ โดยคํานึงถึงความมั่นคง ประโยชน์ของรัฐ และสิทธิมนุษยชนประกอบกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น