xs
xsm
sm
md
lg

ล้มซะแล้ว! ข้อเสนอนับอายุความคดีทุจริต เริ่มตั้งแต่พบหลักฐาน “กฤษฎีกา” อ้างกระทบสิทธิผู้ต้องหาเกินสมควร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดผลศึกษาแก้กฎหมายนับอายุความคดีทุจริต “กฤษฎีกา” ชี้เป็นไปได้ยาก นับอายุความคดีทุจริตตั้งแต่ช่วงพบหลักฐาน เป็นการกระทบสิทธิผู้ต้องหา-จำเลยเกินสมควร ด้าน ครม.-ศอตช.เห็นด้วย ยกเลิก! อ้างฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ไม่เคยปฏิบัติ เผยมติ ครม.ให้หาแนวทางใหม่ สั่งศึกษา “เพิ่มอายุความให้ยาวขึ้น”

วันนี้ (7 ส.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รายงานผลการพิจารณาศึกษา “ผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการนับอายุความของคดีทุจริตตั้งแต่เมื่อปรากฏหลักฐานการทุจริต” เสนอรายงานคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาศึกษากรณีการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (28 กุมภาพันธ์ 2560) เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอายุความร่วมกับศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมบัญชีกลาง แล้วมีความเห็นร่วมกันว่า

จากการศึกษาหลักกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศเกี่ยวกับอายุความในคดีทุจริต ได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ทุกประเทศได้กำหนดให้เริ่มนับอายุความนับแต่วันกระทำความผิดตามหลักความชัดเจนแน่นอนในการนับอายุความในคดีอาญา

ข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อเริ่มนับอายุความนับแต่วันปรากฏหลักฐานการทุจริตจึงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาเกินสมควร และขณะนี้คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาอยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งมีหลักการขยายกำหนดอายุความในการฟ้องร้องความผิดฐานกระทำทุจริตบางฐานความผิดเป็น 30 ปี

“ข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อเริ่มนับอายุความนับแต่วันที่ปรากฏหลักฐานการทุจริตจึงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาเกินสมควร นอกจากนี้ มาตรา 74/1 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และมาตรา 61/1 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 รวมทังมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติชอบ พ.ศ. 2559 ได้บัญญัติห้ามมิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาลร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ซึ่งสอดคล้องกับข้อ 29 แห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC) ที่ให้หยุดนับอายุความ (suspension of the statute of limitations) ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาในความผิดฐานกระทำทุจริตตามอนุสัญญาฯ ได้หลบหนีระหว่างกระบวนการยุติธรรม”

“ดังนั้น จึงเห็นควรยุติการศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอายุความคดีทุจริตตั้งแต่เมื่อปรากฏหลักฐานการทุจริต และส่งผลการศึกษาให้คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญารับไปประกอบการพิจารณาต่อไป ตามที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติเสนอ”

โดยผลการศึกษาดังกล่าว ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานอำนวยการฯ และคณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว

มีรายงานว่า เมื่อปลายเดือนกุมพาพันธ์ 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ว่าได้สั่งการศอตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอายุความในคดีทุจริต โดยให้ ศอตช. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการกฤษฎีกา กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือถึงรายละเอียดต่างๆ ในเรื่องนี้

“ที่ผ่านมาได้มีการปรับแก้ไปแล้ว ทั้งในประเด็นการขยายอายุความคดีทุจริต และขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับคดีทุจริตให้เร็วขึ้น ซึ่งนายกฯได้สั่งการเพิ่มเติมให้ไปศึกษาในเรื่องอายุความในคดีทุจริตว่า ให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อปรากฏหลักฐานการทุจริต ไม่ใช่นับจากวันที่กระทำผิดได้หรือไม่ จึงต้องมีการหารือเพิ่มเติมเพื่อลงรายละเอียด เชื่อว่าการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอายุความในคดีทุจริตนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้ผู้ที่กระทำความผิด ไม่ว่าจะหลบหนีไปนานแค่ไหนก็ต้องถูกดำเนินคดี แต่ขณะเดียวกันก็อาจทำให้เจ้าหน้าที่บางคนไม่กระตือรือร้น เพราะฉะนั้นต้องดูในรายละเอียดให้ครบถ้วนในทุกประเด็น”

มีรายงายด้วยว่า ช่วงเดียวกัน นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Veera Somkwamkid” ว่า ถ้ารัฐบาล คสช.มีความจริงใจและจริงจังในการปราบปรามการทุจริต ควรใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกาศให้คดีการทุจริตไม่มีอายุความ ตรวจสอบพบเมื่อใด ดำเนินคดีได้ทันที ทำให้ได้อย่างเดียวกับประเทศจีน




กำลังโหลดความคิดเห็น