xs
xsm
sm
md
lg

“วัชระ” จ่อชงนายกฯ สอบ รมต.ใช้ ฮ.บินตรวจโรงสี ข้องใจฝืนตั้งคนสนิท “ปู” นั่ง ผอ.อคส.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
อดีต ส.ส.ปชป. เตรียมยื่นเรื่องให้ “ประยุทธ์” สอบ รมต. ใช้เฮลิคอปเตอร์ทหาร บินตรวจโรงสีข้าวที่กำแพงเพชร สัปดาห์หน้า สงสัยมีโรงสีผลิตข้าวคน มั่ว ประมูลข้าวคนบริโภคไม่ได้ พร้อมจับตา ตั้ง “อินทิรา” คนสนิท “ยิ่งลักษณ์” นั่ง ผอ.อคส. คุมโกดังข้าว ทั้งที่เคยยื่นคัดค้านก่อนหน้านี้

วันนี้ (6 ส.ค.) นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จะไปยื่นเรื่องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ตรวจสอบกรณีที่มีรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาล ใช้เฮลิคอปเตอร์แบบ MI-17 ของกองทัพบก บินจากกรุงเทพฯ ไปยังโรงเรียนเกาะตาล อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร เพื่อไปตรวจสอบโรงสีข้าวของบริษัท โรงสีสนั่นเมือง จำกัด ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท กำแพงเพชร เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้าร่วมประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่การบริโภคของคน ครั้งที่ 1/2560 หลังจากที่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อมวลชนไปแล้ว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีอำนาจไม่ได้ออกมาชี้แจงว่าไปตรวจสอบโรงสีใด ด้วยวัตถุประสงค์ใด และทำไมต้องแจ้งเป็นภารกิจลับ ทั้งๆ ที่ประชาชนต้องการทราบ เพราะเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการระบายข้าวที่ในขณะนี้มีการตั้งข้อสังเกต ว่า มีโรงสีบางแห่งซึ่งผลิตข้าวสำหรับคนเท่านั้นไปประมูลข้าวที่ไม่ใช่การบริโภคของคนทำให้เป็นจุดที่น่าสงสัย ประกอบกับมีคำสั่งศาลปกครองกลางให้ระงับการประกวดราคาและการทำสัญญากับผู้ชนะการประมูลข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มิใช่คนบริโภค ซึ่งมีการเปิดประมูลไปเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ได้ยื่นฟ้องว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการอนุมัติ และถูกตัดสิทธิ์การเข้าร่วมประมูล สะท้อนให้เห็นว่าการประมูลข้าวในส่วนนี้มีความไม่โปร่งใส ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบ

นายวัชระ ยังกล่าวถึงกรณีที่ บอร์ดองค์การคลังสินค้า (อคส.) ตั้ง นางอินทิรา โภคปุณยารักษ์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ อคส. คนใหม่ ว่า เป็นเรื่องที่ต้องจับตาว่าเหตุใด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จึงสนับสนุนให้มีการตั้ง นางอินทิรา เป็นผู้อำนวยการ อคส. ซึ่งมีหน้าที่สำคัญเกี่ยวเนื่องกับการระบายข้าว ทั้งๆ ที่เป็นคนสนิทที่เดินตามหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีละเว้นปฏิบัติหน้าที่ไม่ยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวมาโดยตลอด อีกทั้งยังมีปัญหากรณีธนาคารเอสเอ็มอีแบงก์ เสียค่าโง่ จากการกู้ยืมระหว่างธนาคารเอสเอ็มอีแบงก์ กับ ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด จำนวน 6,000 ล้านบาท ทำให้ธนาคารเอสเอ็มอีแบงก์เสียหาย โดยนางอินทิราเป็นกรรมการที่เกี่ยวพันในกรณีดังกล่าว

“ผมสงสัยว่า ไม่มีบุคคลที่มีความเหมาะสมแล้วหรือ เหตุใดต้องเอาคนสนิทของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มานั่งในตำแหน่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดูแลโกดังข้าวในโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐบาลไม่มีคนที่มีความสามารถและเป็นกลางมากกว่านี้แล้วหรือ”

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา นายวัชระ ได้ไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. คัดค้านการแต่งตั้ง นางอินทิรา ดำรงตำแหน่ง ผอ.องค์การคลังสินค้า เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับจำเลยในคดีจำนำข้าวโดยให้เหตุผล 6 ข้อ คือ 1. นางอินทิรา มีความใกล้ชิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีจำนำข้าวมาเป็นเวลานาน 2. หาก นางอินทิราเข้าไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ อคส. อาจจะเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง หรือสร้างข้อเท็จจริงใหม่ที่เกี่ยวข้องกับคดีจำนำข้าว เพื่อช่วยเหลือนางสาวยิ่งลักษณ์ในชั้นอุทธรณ์ได้ 3. นางอินทิรา มีความใกล้ชิดกับ นางสาลินี วังตาล อดีตประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการ อคส. และ นางสาลินี ก็มีความใกล้ชิดกับ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่ง นางอินทิรา เป็นหนึ่งในผู้บริหารที่ช่วยเหลือนางสาลินี ในการขายหนี้ NPL ของเอสเอ็มอีแบงก์ ที่มีความผิดปกติตามที่เคยปรากฏเป็นข่าว 4. นางอินทิรา ให้ความช่วยเหลือ นายพายัพ ชินวัตร ซึ่งเป็นลูกหนี้ NPL ของเอสเอ็มอีแบงก์ วงเงิน 90 ล้านบาท ที่ได้ลักลอบรื้อถอนโรงงานและเครื่องจักร ที่เป็นหลักประกันเงินกู้มูลค่านับร้อยล้านบาทหลบหนีไป

5. นางอินทิรา ไม่มีพื้นฐานความรู้และไม่เคยมีประสบการณ์ใดๆ เกี่ยวกับงานขององค์การคลังสินค้า การแต่งตั้งบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับเครือข่ายของระบอบทักษิณ เข้าไปรับตำแหน่ง ย่อมสร้างความเสียหายให้กับสังคมเป็นอย่างยิ่ง และ 6. นางอินทิรา ยังมีความเกี่ยวข้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเอสเอ็มอีแบงก์ ในคดีบัตรเงินฝาก ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ชำระค่าปรับให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เป็นจำนวนเงินถึง 6 พันล้านบาท โดยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการการเงินของเอสเอ็มอีแบงก์ จึงเป็นบุคคลที่เคยมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องในการสร้างความเสียหายให้กับหน่วยงานของรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น