ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือด่วนถึงผู้ว่าฯ จังหวัดน้ำท่วม บูรณาการใกล้ชิด เตือนภัย ชมลุยช่วยน่าพอใจ ด้านอธิบดี ปภ. เผย สถานการณ์ยังท่วม 10 จังหวัด เป็นอีสาน 9 จว. และ อยุธยา
วันนี้ (5 ส.ค.) นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่น้ำท่วม ว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์อุทกภัยในจังหวัดต่างๆ หลายพื้นที่ และกระทรวงมหาดไทยได้แจ้งแนวทางการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ เป็นระยะๆ ไปแล้วนั้น ขณะนี้สภาพอากาศแปรปรวนและภาวะอุทกภัยยังคงครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของประเทศไทย ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ จึงขอให้ ผวจ. ดำรงการบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานทั้งระดับจังหวัด ภาค และส่วนกลาง รวมทั้งภาคประชาชน เอกชน ในการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยต่อไปด้วย ทั้งนี้ ให้ประชาสัมพันธ์เน้นย้ำประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตาม และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัย รวมทั้งคำแนะนำของทางราชการด้วยหนังสือดังกล่าว ระบุว่า ขณะเดียวกัน ได้รับทราบผลการดำเนินการของทุกจังหวัดที่ประสบปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม ซึ่งจากการประเมินผลและติดตามการทำงานของ ผวจ. และทีมงานฝ่ายต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่แล้ว พบว่า มีผลการดำเนินการที่รวดเร็วและครอบคลุมกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อน เป็นที่พอใจของประชาชน และผู้บังคับบัญชา จึงขอชมเชยและเป็นกำลังใจแก่ ผวจ. และทีมงานในพื้นที่ทุกจังหวัดที่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ
ด้าน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.- 5 ส.ค. ทำให้เกิดน้ำไหลหลากในหลายพื้นที่ รวม 44 จังหวัด 291 อำเภอ 1,456 ตำบล 10,888 หมู่บ้าน 43 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 512,878 ครัวเรือน 1,640,761 คน ผู้เสียชีวิต 28 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 34 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 10 จังหวัด รวม 101 อำเภอ 672 ตำบล 5,733 หมู่บ้าน 43 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 294,003 ครัวเรือน 897,173 คน แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ 1. สกลนคร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 18 อำเภอ 2. กาฬสินธุ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 18 อำเภอ 3. นครพนม ฝนที่ตกหนักและมวลน้ำจากหนองหาร จังหวัดสกลนคร ไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ 4. ยโสธร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 9 อำเภอ 5. อำนาจเจริญ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ 6. นครราชสีมา ยังคงมีน้ำท่วมขังใน 3 อำเภอ 7. ร้อยเอ็ด น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 20 อำเภอ 8. อุบลราชธานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 11 อำเภอ 9. หนองคาย ฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้น้ำท่วมพื้นที่อำเภอเฝ้าไร่ รวม 2 ตำบล 15 หมู่บ้าน
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ผลกระทบจากเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำ ทำให้น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล อ.เสนา อ.บางปะอิน อ.ผักไห่ อ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.บางไทร รวม 72 ตำบล 353 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,097 ครัวเรือน ทั้งนี้ ปภ. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ พร้อมกำชับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลัง ส่วนจังหวัดที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัยให้ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ควบคู่กับการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ ให้เชื่อมโยงการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป