เปิดประกาศ คค.สั่งเจ้าของ-ธุรกิจ-รัฐ-เอกชน-วัด-เกษตรกร 17 ประเภท “สิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลำแม่น้ำทั่วประเทศ” ขึ้นทะเบียนตามประกาศหัวหน้า คสช. เผย “เกษตรกรเลี้ยงปลากระชัง” เข้าข่ายต้องลงทะเบียนใหม่ รวมถึงสิ่งปลูกสร้างตามวิถีชุมชนดั้งเดิม-ศาสนสถานทุกศาสนา ส่วนสิ่งก่อสร้างอายุมากกว่า 100 ปีต้องมาขึ้นทะเบียนใหม่ รวมถึงสิ่งก่อสร้างรุกลำแม่น้ำ อายุ 45 ปีลงมา ให้อำนาจ “กรมเจ้าท่า” พิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้
วันนี้ (2 ส.ค.) มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงนามในประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการพิจารณาอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 ที่ให้ไว้ ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เรื่องการบรรเทาความเสียหายให้แก่ประชาชนในกรณีปลูกสร้างอาคาร หรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ
ทั้งนี้ ให้ผู้ประสงค์จะแจ้งการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้ดำเนินการแจ้งตามแบบแจ้งการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ณ สำนักความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า หรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาที่สิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำตั้งอยู่ พร้อมเอกสาร ประกอบด้วย สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้างในปัจจุบันแผนผังแสดงบริเวณตำแหน่งที่ตั้งอาคารหรือการปลูกสร้าง
นอกจากนี้ยังให้เจ้าท่าดำเนินการขึ้นทะเบียนสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ที่ปลูกสร้างตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2456 ถึง 17 กุมภาพันธ์ 2515
ทั้งนี้ยังให้เจ้าท่าพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต ในกรณี 1. สิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ที่ปลูกสร้างตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2456 ถึง 17 กุมภาพันธ์ 2515 2. สิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำทั่วประเทศ ที่ปลูกสร้างตั้งแต่ 18 กุมภาพันธ์ 2515 ถึง 23 สิงหาคม 2537 และ 3. สิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำทั่วประเทศ ที่ปลูกสร้างตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2537 ถึง 22 กุมภาพันธ์ 2560 และให้เปิดลงทะเบียนกรณีที่ไม่เคยได้รับอนุญาตมาก่อนด้วย
มีรายงานว่า สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ ประกอบด้วย 1. สิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำต้องไม่มีลักษณะหรือสภาพที่เป็นอันตรายต่อการเดินเรือหรือทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลงไป หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 2.การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ล่วงล้ำลำแม่น้ำ ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นและสมควร ตามวัตถุประสงค์ 3. การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ล่วงล้ำลำแม่น้ำต้องไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการประมง และ 4. สิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำต้องมีสภาพเหมาะสมและปลอดภัยในการใช้งาน
สำหรับประเภทของอาคารและสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำที่พึงอนุญาตได้ จำนวน 17 ประเภท ได้แก่ ท่าเทียบเรือ, สะพานปรับระดับและโป๊ะเทียบเรือ, สะพานข้ามแม่น้ำหรือสะพานข้ามคลอง, ท่อหรือสายเคเบิล, เขื่อนกันน้ำเซาะ, คานเรือ, โรงสูบน้ำ, กระชังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ, ท่าเทียบเรือชนิดทางลาดในแม่น้ำโขง, ปะการังเทียม, ท่อลอด, แพสูบน้ำ เขื่อนกันทรายกันคลื่น, ฝายน้ำล้น, สะพานทางเดิน, อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้สำหรับวิถีชุมชนดั้งเดิม, การประกอบอาชีพในภาคการเกษตร และศาสนสถาน สิ่งปลูกสร้างสำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่รัฐมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่บริเวณที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือได้รับอนุญาต ให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ของทางราชการ ให้เจ้าท่ามีอำนาจในการเพิกถอนการขึ้นทะเบียน หรือการอนุญาต หรือปรากฏว่าสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำมีสภาพที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สิ่งแวดล้อม เป็นอุปสรรคหรือเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อการเดินเรือ ให้เจ้าท่ามีอำนาจในการเพิกถอนการขึ้นทะเบียน หรือการอนุญาต
นอกจากนี้ยังห้ามโอนสิทธิในการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำโดยทางนิติกรรมสำหรับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ประเภทบ้านพักอาศัย หากฝ่าฝืนให้เจ้าท่ามีอำนาจเพิกถอนการขึ้นทะเบียน หรือการอนุญาต