“กฤษฎา อินทามระ” ทายาทผู้บุกเบิกที่ดินตำรวจ เผย เหตุฟ้อง กทม. เพราะบรรพบุรุษทำความดีความชอบให้กับบ้านเมือง ยุคนั้นตกลงระหว่างผู้ใหญ่ เอาถนนก็เอาไป แต่อย่ามายุ่งกับซอย แต่ กทม. กลับจะเปลี่ยนชื่อถนนและซอยให้เป็นสุทธิสารทั้งหมด เชื่อทำตามคำสั่งศาล ด้านทายาท “พระสุทธิสารวินิจฉัย” คาดเปลี่ยนเฉพาะช่วงถนนเดิม 500 เมตร จากสะพานควาย หากไม่ทำตามนั้นฟ้องศาลปกครองตาม
จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ให้กรุงเทพมหานคร, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ปลัดกรุงเทพมหานคร, ผู้อำนวยการเขตพญาไท และผู้อำนวยการเขตดินแดง พิจารณาดำเนินการในเรื่องการเปลี่ยนแปลงชื่อถนนและซอยบริเวณถนนสุทธิสารวินิจฉัย และ ซอยอินทามระ ทั้ง 59 ซอย ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หลัง นายกฤษฎา อินทามระ อาชีพทนายความ ในฐานะทายาทสกุลอินทามระ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องข้อหาละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การดำเนินการเปลี่ยนชื่อถนนของกรุงเทพมหานครไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามประวัติทะเบียนถนน พ.ศ. 2503 อีกทั้งไม่เคยปรากฏว่า กทม. เคยรวบรวมข้อมูลเรื่องนี้เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน จึงมีคำพิพากษากลับนั้น
สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ นายกฤษฎา อินทามระ อาชีพทนายความ ระบุถึงความเป็นมาของคดีนี้ ว่า ปี 2548 กรุงเทพมหานครในยุค นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ในขณะนั้น) มีนโยบายเปลี่ยนเลขที่บ้าน และเปลี่ยนชื่อซอยให้ตรงกับถนน ตามหลักสากล จากนั้นมีการประกาศให้ประชาชนทราบเพื่อเตรียมตัว เมื่อทราบข่าวก็เห็นว่า ชื่อตระกูล อินทามระ นามสกุลของปู่ที่เป็นคนบุกเบิกพัฒนาที่ดินให้ข้าราชการตำรวจ สมัย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ เดิมมีอยู่ 59 ซอย ชื่ออินทามระ จะมาเปลี่ยนชื่อเป็นซอยสุทธิสารทั้งหมด อ้างว่าถนนเป็นสุทธิสาร ซอยต้องตรงกับถนนนั้น และจะมีการวงเล็บไว้ให้ว่า อินทามระ ตนไม่ยอมก็เลยฟ้องศาลปกครองตั้งแต่นั้นมา
นายกฤษฎา ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ กทม. ไม่ยอมให้เปลี่ยนชื่อซอยอินทามระ เพราะบรรพบุรุษได้ทำความดีความชอบให้กับบ้านเมือง เมื่อเรื่องขึ้นสู่ศาลปกครองชั้นต้น ยังไม่ทันที่ศาลจะตัดสิน กทม. ก็ยอมไม่เปลี่ยนชื่อซอยอินทามระ คดีก็ยุติไป พอมาปี 2551 ตนก็มาดูว่า เกิดอนาคตข้างหน้า กทม. มาเล่นวิธีนี้อีก เลยฟ้องว่า กทม. ติดตั้งป้ายชื่อผิด เพราะถนนสุทธิสารวินิจฉัย มีแค่ 3 ช่วง คือ ซอย 1 - 3 ตามประวัติความเป็นมาทะเบียนถนน พ.ศ. 2503 จากสะพานควาย เลี้ยวซ้ายจากห้างบิ๊กซี จะเป็นซอยสุทธิสาร 1 - 3 เรียงไป แต่ช่วงถนนอินทามระนั้น จะเริ่มตั้งแต่ซอยสุทธิสาร 3 เป็นต้นไป เป็นซอยอินทามระ 1 ไปเรื่อยจนถึงซอยอินทามระ 59
“จากประวัติศาสตร์ทะเบียนถนนปี 2503 ก็บ่งบอกว่า ถนนสุทธิสาร มีอยู่แค่ 500 เมตร คือ 3 ซอยเท่านั้น และถัดจากนั้นทั้งหมดต้องเป็นถนนอินทามระ ข้ามถนนวิภาวดีไป และยาวจนถึงเกือบจะออกถนนรัชดาภิเษก” นายกฤษฎา กล่าว
สำหรับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด นายกฤษฎา ชี้ว่า การติดป้ายถนนทำได้ จุดหนึ่ง คือ ตั้งแต่ซอยอินทามระ 1 จนสุดถนนวิภาวดีรังสิต และอีกจุดหนึ่ง หัวถนนวิภาวดีรังสิต ที่ออกไปยังถนนรัชดาภิเษก รวมแล้วก็ 2 ป้ายเท่านั้น ติดที่ถนนหลักๆ ขณะที่ประชาชนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในซอยอินทามระ ก็ต้องนำทะเบียนบ้านไปแก้ไข เป็นถนนอินทามระ เช่น ถนนอินทามระ ซอยอินทามระ 1 วันนี้กลายเป็นว่า ชื่อถนนสุทธิสาร ซอยอินทามระ ทะเบียนบ้านไม่ตรงกับหลักสากล คนก็งง ทำไมไม่ตรงกัน มีปัญหาอะไรกัน
ทายาทตระกูลอินทามระ กล่าวว่า การฟ้องร้อง กทม. ครั้งนี้ เพื่อต้องการให้รักษาชื่อเสียงวงศ์ตระกูลไว้ เมื่อมีคนมารุกรานก่อน คิดมาเปลี่ยนชื่อซอยอินทามระทั้ง 59 ซอย หากไม่เปลี่ยนก็ไม่เรียกร้องถนน จะเอาไปก็เอาไป แต่ชื่อซอยหากไม่ออกมาต่อสู้ คงมีการเปลี่ยนไปนานแล้ว ขนาดชื่อถนนสุทธิสาร นายมารุต บุนนาค ทายาทของพระสุทธิสารวินิจฉัย เคยทำหนังสือทักท้วงไปที่ กทม. ว่า ต้องใช้ชื่อถนนเต็มว่า “ถนนสุทธิสารวินิจฉัย” ชื่อถนนสุทธิสารไม่ถูกต้อง ตามข้อเท็จจริงมีการอุทิศเป็นที่สาธารณะแค่ 3 ซอย ฉะนั้น เป็นไปได้อย่างไรที่ถนนสุทธิสารจะยาวไปถึงห้วยขวาง ใครจะยกที่ดินจากสะพานควาย ยาวไปถึงห้วยขวาง สิ่งที่ต้องทำให้ลุกขึ้นมาฟ้องร้อง กทม. นั้น ที่ผ่านมา เห็นว่า อยากทำอะไรทำไปเลย แต่อย่าเอามากเกินไป
“สมัยอธิบดีฯ เผ่า ให้คุณปู่ผมนำที่ดินกรมตำรวจไปแบ่งจัดสรรให้ตำรวจผ่อนถูกๆ เช่นเดียวกับแฟลตตำรวจสมัย นายสมัคร สุนทรเวช แต่สมัยปู่ผมเป็นผู้ริเริ่มทำเป็นบ้าน เป็นหลังๆ ให้ตำรวจผ่อน ซึ่งแถวสะพานควาย สมัยนั้นเรียกว่า ทุ่งเลี้ยงควาย ทุรกันดารมาก ปู่ผมมีนโยบายทำให้ที่แถวนั้นเป็นบ้านของตำรวจโดยเฉพาะ ตำรวจก็มาจับจองผ่อนกัน สุดท้ายข้าราชการตำรวจก็ได้บ้านเป็นหลังๆ อยู่” นายกฤษฎา กล่าว
นายกฤษฎา กล่าวว่า สมัยนั้นผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า เขามีการตกลงระหว่างผู้ใหญ่ เอาถนนก็เอาไป แต่อย่ามายุ่งกับซอย ยังไงก็ต้องเป็นชื่อ ซอยอินทามระไปตลอดกาล อย่าเปลี่ยน จนมาเจอหลักสากลของ กทม.
“หากผมไม่ลุกขึ้นมาฟ้อง กทม. อีกหน่อยความดีความชอบตระกูลผมก็หายไป ผมไม่ได้ฟ้องเพื่ออะไรนะ เราถูกรุกรานก่อน มิเช่นนั้น ไม่ทำอะไรหรอก ผมเป็นทนายความ รู้กฎหมาย ก็เอาให้เรื่องจบสิ้นสักที จะได้ไม่ต้องมาเปลี่ยนกันอีก ปู่ผมทำมาและเป็นชื่อเสียงวงศ์ตระกูล คนอยู่เป็นร้อยเป็นพันครอบครัว หาก 180 วันแล้ว กทม. ไม่เปลี่ยนป้ายชื่อถนน จะมีความผิดอาญา ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ แต่เชื่อว่า ผู้ว่าฯ กทม. ยังไงต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาสูงสุดแน่นอน” นายกฤษฎา กล่าว
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า นายรุจิระ บุนนาค ทายาทพระสุทธิสารวินิจฉัย (ชั้นหลาน) ได้ชี้แจงผ่านสื่อมวลชน ว่า ในคดีนี้ทายาทของพระสุทธิสารวินิจฉัยไม่ถูกฟ้องคดี และไม่ได้ถูกเรียกเข้ามาเป็นคู่ความในคดี ทำให้ข้อเท็จจริงสำคัญบางส่วนคลาดเคลื่อน และขาดหายไปจนเป็นเหตุให้ศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้ยกฟ้อง แต่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้เปลี่ยนแปลงชื่อถนนและซอยให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ภายใน 180 วัน หมายความว่า กทม. อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงชื่อถนนดังกล่าว ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามมติที่ประชุม อ.ก.พ. กรมตำรวจ เมื่อปี 2503 ที่ให้ใช้ชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย ตั้งแต่ถนนพหลโยธินเข้าไป 500 เมตร และตอนต่อไปให้ใช้ชื่อถนนอินทามะระ
กรณีที่ถนนสายเดียวกัน แต่ใช้ชื่อต่างกันมีปรากฏอยู่ เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนเพลินจิต ถนนพระราม 1 ล้วนแต่เป็นถนนสายเดียวกันตลอด หากกรุงเทพมหานครไม่ดำเนินการตามข้อเท็จจริงนี้ มีความเป็นไปได้ที่ทายาทของพระสุทธิสารวินิจฉัย จะใช้สิทธิทางศาลปกครองต่อไป แม้เรื่องการใช้ชื่อถนนในคดีนี้อาจดูเหมือนว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไปเท่าไรนัก แต่ถือได้ว่าเป็นบรรทัดฐานสำคัญที่แสดงว่า ผู้อุทิศที่ดินเพื่อเป็นถนนสาธารณะ และประโยชน์แก่บุคคลทั่วไปสมควรจะได้รับการยกย่อง หากปล่อยผ่านไป ต่อไปในอนาคตอาจเป็นเรื่องยากที่จะมีผู้อุทิศที่ดินเพื่อยกให้เป็นทางสาธารณะและประโยชน์แก่สาธารณชน