มท. เจียด 4 แสน ซื้อ “สับปะรดปัตตาเวีย” ช่วยเกษตรกร จ.ลำปาง นำมาจำหน่ายให้ข้าราชการ 13 หน่วยงานในสังกัด กิโลกรัมละ 10 บาท ตลอดเดือนกรกฎาคมนี้ เผย สั่ง ผู้ว่าฯ หนุนเอกชน ตั้ง “โรงงานแปรรูปสับปะรด” ทุกภูมิภาค แก้ปัญหาสับปะรดราคาตก ล้นตลาด สู่ช่องทางตลาดใหม่ รวมถึงแก้ปัญหาราคาตกต่ำ
วันนี้ (18 ก.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ทำหนังสือผ่านกระทรวงมหาดไทย ถึงองค์การตลาด สังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานกลาง เพื่อจัดทำ “โครงการประชารัฐร่วมใจสนับสนุนรับซื้อสับปะรดของเกษตรกรจังหวัดลำปาง” โดยได้รับอนุมัติงบประมาณ 400,000 บาท ให้องค์การตลาด รับซื้อสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ในพื้นที่ จ.ลำปาง ที่ล้นตลาดสู่ช่องทางตลาดใหม่ รวมถึงแก้ปัญหาราคาตกต่ำ เพื่อนำไปจำหน่าย “เครือข่ายประชารัฐ” ลักษณะซื้อมาขายไป ในพื้นที่ของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และหน่วยภาคเอกชน
“เบื้องต้นจะนำสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย จำนวน 13,000 กิโลกรัม จำหน่ายในกิโลกรัมละ 10 บาท ให้กับข้าราชการ 13 หน่วยงาน สังกัดกระทรวงมหาดไทย เช่น กระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การประปาส่วนภูมิภาค และตลาดในสังกัด กทม. 4 แห่ง รวมแห่งละ 1,000 กิโลกรัม โดยจะนำมาจำหน่ายตลอดเดือนกรกฎาคม 2560 นี้”
มีรายงานด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด กระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีพื้นที่เพาะปลูกสับปะรด รับข้อเสนอของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ให้แนวทางเกี่ยวกับการพิจารณาสนับสนุนให้ภาคเอกชนจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตในพื้นที่ที่เหมาะสมตามภูมิภาคต่างๆ เช่น จ.หนองคาย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และลำปาง รวมถึงการวางแผนการผลิตและการรักษาคุณภาพของผลผลิตไปปรับใช้ในพื้นที่ตามความเหมาะสม รวมทั้งในจังหวัดทำการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดรวมถึงพืชชนิดอื่นๆ เพื่อควบคุมการปลูกในพื้นที่ที่ไม่ถูกกฎหมาย และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐสามารถบริหารจัดการผลผลิตได้
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย รับทราบว่า ปัญหาภาคการผลิตของสับปะรด โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป และไม่ได้วางแผนการผลิตล่วงหน้า รวมทั้งมีการใส่ปุ๋ยในปริมาณมาก ทำให้ได้ผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพส่งผลให้โรงงานแปรรูปไม่รับซื้อ
ที่ประชุมคณะทำงาน เห็นว่า ควรให้มีการกระจายผลผลิตไปสู่แหล่งรับซื้อที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปเพิ่มขึ้นตามภูมิภาคพื้นที่ โดยให้คำนึงถึงความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ เช่น คนกรุงเทพฯ ยังบริโภคสับปะรดสดในราคาที่สูง ทำอย่างไรถึงจะกระจายผลผลิตให้ถึงผู้บริโภคในราคาถูก หรือผลผลิต จ.ลำปาง อาจส่งเสริมไปประเทศจีน หรือต่างประเทศ เพราะลูกจะเล็ก” เป็นต้น
“ขณะที่ข้อเสนอให้มีการลงทะเบียน ผู้ปลูกสับปะรด ส่วนใหญ่ไม่มีมาตรการใดที่จะบังคับขึ้นทะเบียน แต่ผู้ปลูกฯ มักไปปลูกในพื้นที่นอกเอกสารสิทธิ ทำให้บริหารจัดการยาก แต่การช่วยเหลือจะช่วยในพื้นที่ที่ถูกกฎหมายเท่านั้น”.