xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์หนุน “บอร์ดสิ่งแวดล้อม” ใช้เครื่องมือประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ต่อยอดนโยบายพํฒนาศักยภาพลุ่มน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์ หนุน “บอร์ดสิ่งแวดล้อม” ใช้เครื่องมือประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เหมือนนานาชาติ หวังต่อยอดนโยบายพัฒนาศักยภาพลุ่มน้ำ รองรับระบบนิเวศ กำหนดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตามแผนฯ ฉบับที่ 12 จ่อนำร่อง “ลุ่มน้ำปราจีนบุรี” ก่อนนำใช้ในอีก 7 ลุ่มน้ำสาขา

วันนี้ (17 ก.ค.) มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิดเห็น “โครงการการศึกษาแนวทางการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” (SEA) ที่จัดโดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนของ สศช.

ดร.ปรเมธีกล่าวตอนหนึ่งว่า การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยในการตัดสินใจเชิงระบบ ในการจัดทำนโยบาย แผน และโครงการที่มุ่งให้เกิดความยั่งยืนทั้งในมิติทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ และสังคม โดยหลักการแล้ว SEA จะต้องถูกดำเนินการขึ้นก่อนการพัฒนานโยบายและแผนต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของผลกระทบเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้นจากนโยบาย และเสนอแนวทางในการป้องกันล่วงหน้า เพื่อลด บรรเทา หรือชดเชยผลกระทบดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์จากผลด้านบวก และสิ่งที่สำคัญในกระบวนการ SEA คือ กระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการแสดงความคิดเห็นและร่วมประเมินผล

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา จีน เวียดนาม รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย ฯลฯ ต่างใช้ SEA เป็นเครื่องมือประกอบการพิจารณาโครงการต่างๆ

ดร.ปรเมธีกล่าวว่า สำหรับประเทศไทยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ได้ระบุไว้ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ต่อเนื่องมาถึงฉบับที่ 12 โดย สศช.พยายามผลักดันให้กระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือนำเสนอทางเลือกในการตัดสินใจระดับนโยบาย แผน และแผนงานที่เหมาะสมกับศักยภาพลุ่มน้ำ เพื่อให้กิจกรรมการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ระดับลุ่มน้ำคำนึงถึงความยั่งยืนและความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศ รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมจากภาคีการพัฒนาในพื้นที่ลุ่มน้ำ

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญโดยมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ขึ้น ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในปี 2548 ซึ่งได้มีการจัดทำร่างแนวทางในการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ขึ้นด้วย สำหรับการประยุกต์ใช้ SEA ในประเทศไทยยังอยู่ในวงจำกัด อาจไม่ทันต่อการทำงานด้านนี้ในระดับนานาชาติที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย ในการดำเนินนโยบายและแผนงานพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาในกลุ่มประเทศอาเซียน

ทั้งนี้ สศช.ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ จึงจัดทำโครงการศึกษาแนวทางการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และจัดทำคู่มือ SEA ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยและเป็นที่ยอมรับของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน และนำคู่มือนี้ไปดำเนินการในพื้นที่นำร่องของลุ่มน้ำปราจีนบุรีด้วย รวมถึงจัดให้มีการฝึกอบรมให้ความรู้ความเข้าใจแก่ภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญ 10 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตะวันตกและตะวันออก ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตกและตะวันออก ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำสาขาแม่โขง เพื่อสร้างความเข้าใจและเห็นประโยชน์ของการจัดทำ SEA ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น