ศาลปกครองพิพากษาสั่งเทศบาล ต.ท่าหลวง อุยธยา-บริษัทก่อสร้างสะพานแขวนสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีชดใช้ค่าเสียหาย 2.6 ล้านเศษ ให้ครอบครัวเหยื่อสะพานถล่มเมื่อปี 56 ชี้หลักฐานชัด จนท.ละเลย ปล่อยบริษัทใช้ลวดสลิงผิดขนาดสร้างสะพาน
วันนี้ (29 มิ.ย.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เทศบาลตำบลท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา และบริษัท ที.เอ็ม.ไอ.ดริล แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้ก่อสร้างสะพานแขวน หรือสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ข้ามแม่น้ำป่าสักระหว่างหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายอนุนาท เสือสมิง และน.ส.สมฤทัย นาคสุทธิ์ ผู้ฟ้องคดี เป็นเงิน 2,640,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้นจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ฟ้องคดีหรือวันที่ 25 ต.ค. 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด เพื่อรับผิดชอบต่อกรณีที่สะพานแขวนดังกล่าวพังถล่มทับบุตรสาวของผู้ฟ้องคดีจนเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2556
ทั้งนี้ ศาลให้เหตุผลว่า จากข้อเท็จจริงในคดีหลังเกิดเหตุสะพานพังถล่มกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้สะพานถล่มซึ่งตามรายงานการตรวจพิสูจน์ที่ 56450911 ซึ่งพนักงานสอบสวนส่งให้กับเทศบาลตำบลท่าหลวง เป็นพยานหลักฐานเชิงประจักณ์ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า บริษัท ที.เอ็ม.ไอฯ ได้ก่อสร้างสะพานโดยใช้ลวดสลิงสายเคเบิลยึดโยงสะพานที่ไม่ได้ขนาด หรือไม่ถูกต้องตามแบบแปลนที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยบริษัท ที.เอ็ม.ไอ.ได้รับแปลนดังกล่าวไปตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเสนอราคาได้ถอดแบบกำหนดราคาในการเข้าแข่งขันราคา จึงย่อมจะรู้ถึงรายละเอียดเกี่ยวกับลวดสลิงที่เป็นอุปกรณ์หลักที่สำคัญที่สุดในการก่อสร้างสะพานแขวนดังกล่าวเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แสดงให้เห็นถึงการกระทำที่เป็นการจงใจทำผิดกฎหมาย ผิดสัญญาของบริษัท ซึ่งบริษัทย่อมคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าการที่ตนใช้ลวดสลิงที่ไม่ได้ขนาดและคุณภาพตามแบบแปลนนั้นย่อมจะมีผลต่อความสามารถในการรับน้ำหลักของตัวสะถานและขอผู้คนที่สัญจรไปมาบนสะพานดังกล่าว อันจะทำให้สะพานถล่มและสร้างความเสียหายให้แก่ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาได้ เมื่อสะพานได้ถล่มโดยมีสาเหตุมาจากการใช้ลวดสลิงไมได้ขนาดของบริษัท ที.เอ็ม.ไอฯ โดยตรง และทำให้บุตรสาวของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเสียชีวิต ย่อมถือได้ว่าบริษัท ที.เอ็ม.ไอ.ได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองและบุคคลอื่นซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์สะพานถล่มดังกล่าว
ส่วนเทศบาลตำบลท่าหลวง การที่บริษัท ที.เอ็ม.ไอ.ไม่ได้ก่อสร้างสะพานแชวนให้ถูกต้องตามแบบแปลนและสัญญา จนเกิดการพังถล่ม ย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจการจ้าง หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ผู้บังคับบัญชาในฝ่ายข้าราชการประจำ หรือฝ่ายบริหารที่มีหน้าที่ตรวจสอบหรือเสนอความเห็น และนายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง มีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งก่อนที่สะพานจะพังถล่ม นายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง รู้ถึงการชำรุดเสียหายของสะพานอยู่แล้ว โดยมีหนังสือแจ้งบริษัท ที.เอ็ม.ไอ.เข้าซ่อมแซมถึง 4 ครั้ง แต่ก็กลับไม่มีคำสั่งระงับการใช้หรือห้ามผู้ใดเข้าใช้สะพานแขวนที่เอียงชำรุด จึงเป็นกรณีละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด และเมื่อสะพานถล่มทับบุตรสาวของผู้ฟ้องคดีเสียชีวติ จึงเป็นการกระทำละเมิดอันเป็นผลโดยตรงจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายให้นายกเทศมนตรีท่าหลวงต้องปฏิบัติเทศบาลตำบลท่าหลวงจึงต้องรับผิดในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด
สำหรับจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ฟ้องคดีเรียกทั้งสิ้นชำระ108,337,592 บาท แต่ศาลกำหนดให้ชำระเป็นเงิน 2,640,000 บาทนั้น แยกเป็นค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการสูญเสียบุตรสาวอันเป็นที่รัก 1 ล้านบาท ค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง 1,440,000 บาท ปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่นๆ จำนวน 2 แสนบาท