xs
xsm
sm
md
lg

“มัลลิกา” จี้นายกฯ ใช้ ม.44 ยกเลิกนำเข้าข้าวสาลี หวั่นทำราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-มันตกต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
ประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ให้ยกเลิกนำเข้าข้าวสาลี หลังพบเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทบคนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง หวั่นทำราคาตกต่ำ แนะใช้ ม.44 จัดการ

วันนี้ (28 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.20 น. นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอยกเลิกการนำเข้าข้าวสาลีเพื่อช่วยเกษตรกร

โดยนางมัลลิกากล่าวว่า จากกรณีรัฐปล่อยนำเข้าข้าวสาลีที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2557 ที่มีการนำเข้าเพียง 5.93 แสนตัน ปี 2558 นำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 3.46 ล้านตัน ปี 2559 มีการนำเข้าสูงถึง 5 ล้านตัน ซึ่งผลกระทบจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นทำให้กระทบต่อราคาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และราคามันเส้นปรับตัวลดลง จนกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดมากกว่า 4.5 แสนครัวเรือน และมันสำปะหลังประมาณ 5.2 แสนครัวเรือน นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำเข้ากากข้าวโพดเหลือจากการทำเอทานอลเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการลดการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศลดลง และกระทบต่อราคาที่เกษตรกรจะขายได้ ดังนั้น หากเราไม่ยกเลิกการนำเข้าข้าวสาลีจะทำให้ราคาของผลผลิตทั้งข้าวโพดและมันสำปะหลังตกต่ำไม่คุ้มทุน เพราะพ่อค้าคนกลางที่ไปรับซื้อเพื่อมาส่งขายให้กับบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์เหล่านี้จะไม่สามารถซื้อในราคาที่ยกระดับแพงขึ้นได้ เพราะผู้ผลิตอาหารสัตว์จะไม่ซื้อผลผลิตในประเทศ แต่จะใช้วิธีการเพิ่มการนำเข้าแทน ซึ่งหากรัฐไม่เข้ามาดูแลจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

“มาตรการแก้ไข คือ กรมการค้าภายในต้องนำวาระเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณายกเลิกการนำเข้าข้าวสาลี แต่หากวิธีการตามปกตินี้ยังมีขั้นตอนที่อาจไม่ทันสถานการณ์วิกฤตของราคาพืชผลหรือไม่ทันฤดูกาลที่ผลผลิตกำลังจะเตรียมออก จึงขอเสนอนายกฯ ให้ใช้มาตรา 44 ยกเลิกการนำเข้าข้าวสาลีเพื่อจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้ดีที่สุด” นางมัลลิกากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น