กรุงเทพโพลล์ เผยประชาชน 48.4% ชี้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยช่วยยกระดับความเป็นอยู่ได้ 24.4% หนุนรักษาฟรี มีส่วนลด รพ.เอกชน 64.3% ระบุ ควรให้สวัสดิการแค่คนจน 43.4% แนะทำด้านการรักษาพยาบาลให้เสมอภาค 39.6% ชูรัฐบาลแก้ปัญหาได้ตรงจุดฐานราก
วันนี้ (24 มิ.ย.) กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เพื่อประชาชนฐานราก โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปจากทั่วประเทศ จำนวน 1,210 คน โดยถามว่า ผลจากการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนได้เพียงใด ร้อยละ 48.4 ช่วยได้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด และ ร้อยละ 51.6 ช่วยได้ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
เมื่อถามว่า ประชาชนที่ผ่านการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยควรได้รับสวัสดิการจากภาครัฐมากที่สุดคือ ร้อยละ 24.4 รักษาพยาบาลฟรี มีส่วนลดค่ารักษาใน รพ.เอกชน ร้อยละ 23 ให้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพ ร้อยละ 18.3 จัดหางานให้ผู้ที่ว่างงาน ร้อยละ 11.1 คูปองส่วนลดค่าน้ำค่าไฟค่าเดินทาง ร้อยละ 10.7 ให้เงินทุนในการสร้างงานสร้างอาชีพ ร้อยละ 4.6 การลดหย่อนดอกเบี้ยกู้ยืม ร้อยละ 4.3 จัดหาที่อยู่อาศัย/ซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยราคาพิเศษ และ ร้อยละ 3.5 ส่วนลดเมื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค
เมื่อถามว่า รัฐควรให้สวัสดิการเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย หรือคนทั้งประเทศเสมอภาคกัน ร้อยละ 64.3 ควรให้สวัสดิการเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย และ ร้อยละ 35.7 ควรให้สวัสดิการกับคนทั้งประเทศเสมอภาคกัน เมื่อถามว่า สวัสดิการที่ภาครัฐควรมีให้กับประชาชนทั้งประเทศทั้งคนรวยและคนจนมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ร้อยละ 43.4 ด้านการรักษาพยาบาล อาทิ รักษาฟรี คงบัตรทอง คุณภาพการรักษาพยาบาลเสมอภาคกัน ร้อยละ 17.5 ด้านการลดค่าครองชีพ ได้แก่ ลดราคาสินค้า จัดขายของถูก ลด/ฟรีค่าน้ำ - ค่าไฟ รถเมล์ - รถไฟฟรี ฯลฯ ร้อยละ 13.8 ด้านการอบรมวิชาชีพ สร้างอาชีพ ร้อยละ 8 ด้านการควบคุมราคาสินค้าเกษตร และ ร้อยละ 5.4 ด้านการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เมื่อถามว่า โครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยจะส่งผลต่อการบริหารประเทศอย่างไร ร้อยละ 39.6 ทำให้รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดฐานราก ร้อยละ 26.1 ทำให้รัฐบาลได้ฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศ ร้อยละ 18.1 ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณแผ่นดินสูงขึ้น และ ร้อยละ 16.2 ทำให้รัฐบาลได้สร้างฐานคะแนนนิยม