สนช.ประชุมลับ 1 ชม. ถกผลสอบอุ้ม 7 สนช.โดดประชุมไม่ผิดจริยธรรม ชี้ถือว่ายังขาดน้อยมาก พร้อมเห็นชอบร่างข้อบังคับใหม่ ตัดบังคับสมาชิกแสดงตนลงมติทิ้ง “สุรชัย” อ้างรองรับ รธน.ปี 60
วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาผลการตรวจสอบของคณะกรรมการจริยธรรม สนช. ที่มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 เป็นประธาน เรื่องข้อร้องเรียน 7 สนช.ที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุม สนช.เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ. 2557 ได้แก่ 1. พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ 2. นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ 3. นายดิสทัต โหตระกิตย์ 4. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี 5. พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา 6. พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง และ 7. พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ในฐานะผู้อนุมัติใบลาประชุม และสมาชิก สนช.จำนวน 7 คน ขอไม่อยู่ร่วมประชุม เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้รายงานผลการสอบสวนโดยพบว่าการลาประชุมของแต่ละคนเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของหน่วยงานต้นสังกัดของตนเอง และเมื่อพิจารณาแล้วถือว่าขาดการประชุมน้อยมาก จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่ผิดจริยธรรมและเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ... ของคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.เป็นประธาน กมธ. มีทั้งหมด 225 ข้อ ได้ตัดเนื้อหาสำคัญในหมวดการสิ้นสุดสมาชิกภาพสนช. เรื่องการให้สมาชิกต้องมาแสดงตน เพื่อลงมติในการประชุมสภามากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนครั้งที่มีการลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลา 90 วันออกไป และตัดเรื่องของกระบวนการถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกไป เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้ตัดอำนาจหน้าที่การถอดถอนออกไป
ด้านนายสุรชัย ในฐานะประธาน กมธ.กล่าวว่า การแก้ไขนี้ทำให้สังคมเกิดความสับสนและ สนช.เกิดความเสียหาย ตนขอชี้แจงว่า ข้อบังคับฉบับใหม่นี้เขียนตามรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติว่า หากสมาชิกขาดประชุมเกิน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมนั้นๆ จะทำให้สิ้นสมาชิกสภาพ แต่ไม่ได้บังคับเกณฑ์การลงมติดังกล่าวของสมาชิกเหมือนรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ที่ระบุว่า การสิ้นสุดสมาชิกภาพของสนช.เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้เหมือนปี 57 ข้อบังคับการประชุมก็ไม่สามารถเขียนไว้ได้
ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบต่อร่างดังกล่าวด้วยคะแนน 198 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ประกาศใช้เป็นข้อบังคับต่อไป