กลุ่มรักษ์เชียงของ ร้องศาลปกครองสั่งเพิกถอนการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเขื่อนปากแบงของ สปป.ลาว ในประเทศไทย พร้อมให้ กฟผ.ชะลอการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจนกว่าจะมั่นใจโครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในประเทศ
วันนี้ (8 มิ.ย.) กลุ่มรักษ์เชียงของ นำโดยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว นายจีรศักดิ์ อินทะยศ และนายพิศณุกรณ์ ดีแก้ว พร้อมด้วย น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า และ น.ส.เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เข้ายื่นฟ้อง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ต่อศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนการดำเนินการการรับฟังความคิดเห็นตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 (พีเอ็นพีซีเอ) และกระบวนการใดๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนปากแบงในประเทศไทย และความเห็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบงที่ได้ดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ทั้งสิ้น โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ที่จะเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ประชาชน ในผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการบนแม่น้ำโขง รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและโครงการอื่นให้ครบคลุมทุกจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแม่น้ำโขง ออกกฎ ระเบียบ แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย และให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบงใน สปป.ลาว จนกว่าจะมีการศึกษาและมาตรการที่มั่นใจได้ว่าโครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในเขตประเทศไทย
โดย น.ส. ส.รัตนมณีกล่าวว่า ทางกลุ่มฯ เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามการกระบวนการแจ้งล่วงหน้าและปรึกษาหารือตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 (พีเอ็นพีซีเอ) และกระบวนการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ในแม่น้ำโขงของ สปป.ลาว ในประเทศไทยเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่จะเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ประชาชนไทย ในผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการบนแม่น้ำโขง ทั้งที่การจัดรับฟังความเห็นควรเป็นไปในลักษณะเพื่อปกป้องทรัพยากร และวิถีชีวิตชุมชนไทยริมฝั่งโขง แต่การรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา 3 ครั้งใน 3 พื้นที่ กลับไม่ทำในลักษณะดังกล่าว และกำลังจะเสร็จสิ้นในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ จึงจำเป็นที่จะต้องมาฟ้องคดีต่อศาล
ด้านนายนิวัฒน์กล่าวว่า เขื่อนปากแบงอยู่ทางตอนล่างของ จ.เชียงราย ที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน มากอยู่แล้ว เพราะการจัดการของเขื่อนต่างๆ ไม่สอดรับกัน และขณะนี้จะมีการสร้างเขื่อนปากแบง ในแม่น้ำโขงของ สปป.ลาว อีก ซึ่งเราเคยมีตัวอย่างการสร้างเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง ใน สปป.ลาว ที่การดำเนินการตามขั้นตอนพีเอ็นพีซีเอไม่ละเอียดรอบคอบ กลไกบางอย่างไม่สามารถขับเคลื่อนได้จริง ทำให้รู้สึกว่ากระบวนการพีเอ็นพีซีเอเป็นเหมือนตรายางที่อนุมัติให้เขื่อนในแม่น้ำโขงได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การฟ้องครั้งนี้จึงหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งให้ กฟผ.ชะลอการซื้อขายไฟฟ้ากับ สปป.ลาวไปก่อนจนกว่าจะมีการศึกษา หรือมีมาตรการที่เชื่อได้ว่าจะไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือมีการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจนเสียก่อน รวมทั้งอยากให้หน่วยงานของรัฐตระหนักว่าการพัฒนาลุ่มน้ำโขงมีปัญหา เพราะทุนข้ามพรมแดน แต่กฎระเบียบที่จะเข้าควบคุมดูแลให้เกิดความสมดุลในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และวิถีชีวิต ยังไปไม่ถึง จึงจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงให้สอดคล้องไปด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง (Pak Bang Dam) เป็นโครงการเขื่อนพลังน้ำไหลผ่าน (Run Off River) ซึ่งจะก่อสร้างอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว ห่างไปทางตอนบนของเมืองปากแบงประมาณ 14 กิโลเมตรในแม่น้ำโขง ลักษณะของเขื่อนปากแบงประกอบด้วย เขื่อนคอนกรีต โรงไฟฟ้า ประตู ระบายน้ำ ประตูเรือสัญจร และทางปลา วัตถุประสงค์ คือ ใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า และปรับปรุงการเดินเรือบริเวณทางตอนบนของเขื่อน และสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่เขื่อน โดยระดับน้ำบริเวณเขื่อนจะมีความหลากหลายตั้งแต่ 16-27 เมตร ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำในช่วงแต่ฤดู ซึ่งโรงไฟฟ้าจะมีกำลังผลิต 912 เมกะวัตต์ การส่งออกไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงในแต่ฤดูกาล โดยโครงการเป็นของกลุ่มบริษัท ต้าถังโอเวอร์ซีส์ อินเวสต์เม้นต์ (Datang Overseas Investment) จะดำเนินการก่อสร้าง ในปี 2560 และจะจ่ายกระแสไฟฟ้าในปี 2566 ซึ่งมีรายงานว่า EGCO บริษัทลูกของ กฟผ.ถือหุ้นในโครงการนี้ 30%