xs
xsm
sm
md
lg

สปน.ถกตั้ง “2 กองทุนฯ” เล็งชง “บอร์ดสิ่งแวดล้อม” แก้ปมเรือขนถ่ายสินค้าสร้างมลพิษเกาะสีชัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปน.ถกตั้ง “ 2 กองทุน” แก้ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากเรือขนถ่ายสินค้าบริเวณ “เกาะสีชัง-ศรีราชา จ.ชลบุรี” ตามข้อเสนอ จ.ชลบุรี เล็งเรียกเก็บจากผู้ประกอบการ-ค่าปรับผู้ทำให้เกิดความเสียหาย-งบอุดหนุนรัฐ เตรียมชงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติรับรองตามกฎหมาย เผย 3 ปี เรือขนถ่ายสินค้า จมแล้ว 3 ลำ ทำชายฝั่งทะเลถูกทำลาย เกิดความสูญเสียต่อระบบนิเวศใต้ทะเล เกิดมลพิษทางอากาศ ประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบ

วันนี้ (31 พ.ค.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในทะเลของชาติ บริเวณแหล่งขนถ่ายสินค้าเทกอง ระหว่างอำเภอเกาะสีชัง-อำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี ถูกทำลาย ภายหลัง จ.ชลบุรี ทำรายงานถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)เพื่อดำเนินการแก้ไข โดยก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2559 จ.ชลบุรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยเกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้าบริเวณเกาะสีชัง มีนายภวัติ เลิศมุกดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธาน

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวของ จ.ชลบุรี ได้ทำรายงานถึง สปน.เพื่อเสนอจัดตั้ง “กองทุนทดแทนความเสียหายของสิ่งแวดล้อม” และ “กองทุนช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่” โดยอาจจะเรียกเก็บจากผู้ประกอบการประเภทต่าง ๆและขออนุมัติงบอุดหนุนจากรัฐบาล หรือเงินที่มีผู้อุทิศให้ หรือจากค่าปรับจากบุคคลหรือหน่วยงานที่ทำให้เกิดความเสียหาย

“จ.ชลบุรี เสนอ สปน.ให้สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว เพื่อชดเชยความเสียหาย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากการจัดตั้งกองทุน ยังไม่มีกฎหมายรับรอง และต้องมีมติจากสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาจัดตั้งกองทุนมารองรับเป็นกฎหมายด้วย”

มีรายงานว่า สาเหตุที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการขนถ่ายสินค้าบริเวณเกาะสีชัง เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติในทะเลของไทยบริเวณระหว่างอำเภอเกาะสีชัง และอำเภอศรีราชา บางส่วนที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลถูกทำลายจากการถ่ายสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อระบบนิเวศใต้ทะเล และมลพิษทางอากาศ

ทั้งนี้ยังพบว่า ผู้ที่เสียผลประโยชน์โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านที่จับสัตว์น้ำในบริเวณนั้นและบริเวณใกล้เคียงบริเวณขนถ่ายสินค้า น้ำเสียที่เกิดจากการล้างระวางเรือ น้ำเสียที่เกิดจากการล้างแท็งก์เรือบรรทุกสินค้าต่างประเทศและน้ำที่ปล่อยทิ้งลงทะเลซึ่งเจือปนสิ่งสกปรก โดยเกิดจากเรือล้างเครื่องยนต์ หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำมันแล้วปล่อยลงทะเล อาจเกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในทะเลและหากกระแสลมและคลื่นพัดน้ำเสีย หรือคราบน้ำมันเหล่านี้ลอยไปเกยชายฝั่ง เช่น ชายหาดบางแสน ชายหาดพัทยา จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล อีกทั้งทำให้สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาชนิดต่างๆ จะตาย สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในทะเลเป็นวงกว้าง

รายงานที่เสนอ สปน.ระบุว่า ที่ผ่านมาเทศบาลตำบลเกาะสีชังไม่มีอำนาจในการดำเนินการเพราะอยู่ในเขตรับผิดชอบของกรมเจ้าท่า ดังนั้น กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่โดยตรง ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2556 และได้กำชับผู้แทนของกรมเจ้าท่า ในเรื่องการตรวจตรากระบวนการจัดการของเสีย ของเรือบรรทุกสินค้าต่างประเทศ ทุ่นขนถ่ายสินค้า เครนน้ำและขอให้เข้มงวดกวดขันการขนถ่ายสินค้าในทะเล มิให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้เกิดขึ้นมานานแต่ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้

มีรายงานว่า เวทีหารือระหว่างปลัด สปน.ยังมีตัวแทนจากกรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ หลังจากกรมเจ้าท่าได้รับหนังสือจากเทศบาลตำบลเกาะสีชัง เพื่อรับทราบและหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลของเทศบาลตำบลเกาะสีชังระบุว่า ปัญหาเกิดเหตุการณ์เรือขนถ่ายสินค้าจมถึงครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2558 โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากปัญหาคลื่นลมในทะเล และผู้ประกอบการเรือขนถ่ายสินค้าไม่ได้วางมาตรการดูแลเรือสินค้าของตนเองอย่างดีทำให้เรือเกิดปัญหาและจมลงดังกล่าว

สำหรับสินค้าที่มีการขนถ่ายบริเวณหน้าเกาะสีชังนั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น ปูนซีเมนต์ ถ่านหิน แป้งมันสำปะหลัง โซดาแอส และปุ๋ย ซึ่งการขนถ่ายแต่ละครั้งมีฝุ่นฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ และหากเกิดเหตุการณ์เรือจมขึ้นมาก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ทำให้ทรัพยากรใต้ท้องทะเลเสียหายอย่างมาก เช่น ปะการังเสียหาย แหล่งอาหารของสัตว์ทะเล
กำลังโหลดความคิดเห็น