xs
xsm
sm
md
lg

แผนยึด ปชป.งานหิน “สุเทพ” เจอ “ขาใหญ่” รวมหัวขวางสุดชีวิต!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

หากพิจารณากันตามศัพท์แสงที่เรียกกันแบบบ้านๆ ก็น่าจะออกมาว่า “กูว่าแล้ว” หรือไม่ก็ “มันก็เป็นแบบนี้ทุกทีสิน่า” สำหรับพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่เวลานี้กำลังเริ่มมีปัญหาขัดแย้งในเรื่องแนวทางของพรรคกันอีกรอบ

แน่นอนว่าในวงการเมืองย่อมมองออกว่า จุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง หรือจะเรียกกันแบบสวยหรูหน่อยว่าเป็นความเห็นที่แตกต่างกันก็คือมาจากสองแนวทาง และจาก “สองกลุ่มใหญ่” จากคนในพรรคและคนที่เคยอยู่ในพรรคมาก่อน นั่นคือกลุ่มที่เคยเป็นกลุ่มเป็นผู้บริหารพรรคประขาธิปัตย์ กับกลุ่ม กปปส.

ที่ผ่านมาเป็นที่รับรู้กันแล้วว่า กลุ่มแรกที่เป็นกลุ่มผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์โดยพฤตินัยนำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีท่าทีไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และที่ผ่านมาเคยแสดงออกชัดเจนมาแล้วเมื่อครั้งการแถลงปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแล้ว

ขณะที่อีกฝ่ายคือ กปปส.ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เคยเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว กลับมีความเห็นในทางตรงกันข้าม นั่นคือ “สนับสนุน” รวมไปถึงแถลงสนับสนุนหรือ “อวย” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองต่อไป รวมไปถึงมีท่าทีสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามเงื่อนไข “นายกฯ คนนอก” ที่ระบุเอาไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเป็นเวลา 5 ปีอีกด้วย

อย่างไรก็ดี หากมองข้ามในประเด็นหลักการและใครถูกต้องหรือใครไม่ถูกต้อง หรือพิจารณาตามหลักการประชาธิปไตย เพราะต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลสนับสนุนเป็นของตัวเอง และคงไม่จบเรื่อง แต่หากพิจารณาจาก “ขุมกำลัง” ของแต่ละฝ่ายถือว่าไม่ธรรมดาและน่าจะพอฟัดพอเหวี่ยงกัน

เริ่มจากฝ่ายของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ว่ากันว่ามีกลุ่มอดีต ส.ส.ภายในพรรคยังสนับสุนนให้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป ยังมีขุมกำลังเป็นกอบเป็นกำ และที่สำคัญมีระดับ “ขาใหญ่” ในพรรคให้การสนับสนุนอย่างสุดกำลัง ซึ่งก็ไม่ต้องอ้อมค้อมกันก็คือ ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค และแพ็กคู่จับมือกับ บัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการที่ปรึกษาพรรค ซึ่งแน่นอนว่าหากทั้งสองขาใหญ่ดังกล่าวออกโรงหนุนอยู่ข้างหลังแบบนี้ ก็น่าจะมั่นใจได้ในระดับสูงว่าหากมีการวัดกำลังกันเมื่อใด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็น่าจะมั่นใจว่าเขาจะเข้าวิน

ขณะที่ฝ่าย สุเทพ เทือกสุบรรณ และ กลุ่ม กปปส. ที่กำลังจะตบเท้ากลับเข้าพรรคประชาธิปัตย์อีกรอบ แน่นอนว่าสำหรับตัว สุเทพ ที่ประกาศชัดว่า “วางมือ” ทางการเมือง หันไปเล่นในบทบาทอื่น เช่น การเป็นประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ทำงานด้านสังคมและการศึกษา เป็นต้น แต่สำหรับบรรดาเครือข่ายที่เคยเดินตามกันออกมาหลายคน ยังไม่ขอวางมือ ไม่ว่าจะเป็น ถาวร เสนเนียม, วิทยา แก้วภราดัย ซึ่งรวมถึงอดีต ส.ส.ทางภาคใต้ ภาคกลาง กทม. รวมไปถึงภาคเหนือที่นำโดย “แม่เลี้ยงติ๊ก” ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู หรือแม้แต่ อิสระ สมชัย ที่ปักหลักร่วมหัวจมท้ายในช่วงชุมนุม กปปส.มาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงหลายคนที่เคยเป็นร่วมอุปสมบทที่วัดธารน้ำไหล หรือวัดสวนโมกข์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อคราวก่อน คนพวกนี้ถือว่ายังแพ็กกันเหนียวแน่น

กลุ่มหลังนี้ถือว่า “ไม่ธรรมดา” เช่นเดียวกัน และที่สำคัญเมื่อเชื่อมต่อกับ “กลุ่มอำนาจ” ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะต่อสายตรงกันมากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปถึงแตะมือกับ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม “ศูนย์อำนาจ” ตัวจริงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเวลานี้

เมื่อพิจารณากันถึงแนวทางเชื่อมต่ออำนาจในอนาคตมันก็ย่อมประมาทไม่ได้ ยิ่งหัวขบวนหลักอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มีท่าทีชัดว่าหนุนหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกฯ ต่อเนื่อง อย่างน้อยก็ช่วง “เปลี่ยนผ่าน” มันก็ย่อมมีพลังทั้งจากภายในและจากภายนอก ภายในก็ต้องยอมรับกันเหมือนกันว่าคนอย่าง สุเทพ ก็ถือว่าเป็น “ดาวฤกษ์” มีพลังด้วยตัวเองเหมือนกัน ส่วนภายนอกเมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวนด์จนสามารถจับมือกับ เนวิน ชิดชอบ จากพรรคพลังสีน้ำเงินในชื่อภูมิใจไทย ที่วางเป้าหมายไปถึง “อำนาจรัฐ” ร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้งคราวหน้ามันก็ย่อมทำให้หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์เคลิบเคลิ้มไปได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ดี หากนับจากวันนี้ยังเหลือเวลาอีกนานนับปีกว่าจะมีการเลือกตั้ง อีกทั้งทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่ไฟเขียวให้มีการทำกิจกรรมทางการเมือง การประชุมพรรคเพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต้องรอไปก่อน แต่ที่ผ่านมาก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวที่มองเห็นเป็นความข้ดแย้งได้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะจากบรรดา “ลูกหาบ” ของแต่ละฝ่าย ที่ก่อวิวาทะกันทางสื่อแบบหนักหน่วงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

แต่จากความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม หลังจากที่มีการถวายพวงมาลาเนื่องในวันระลึกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองฝ่ายก็ได้มีการหารือกันอย่างเป็นทางการที่พรรคประชาธิปัตย์ ภาพที่ออกมาน่าจะเป็นแบบ “จำกัดขอบเขต” ของแต่ละฝ่ายเอาไว้ก่อน ในลักษณะยุติการโจมตีกล่าวหาซึ่กันและกัน เพราะไม่เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายใด แต่ทำให้พรรคเสียหายในสายตาชาวบ้านที่จ้องมองในแบบที่ว่า “กูว่าแล้ว” นั่นแหละ

ดังนั้น หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวที่มองเห็นในตอนนี้เชื่อว่าต่างฝ่ายน่าจะต้องสงบศึกชั่วคราว และมองเห็นแล้วว่าการ “แตกหัก” แบบเอาชนะกันแบบเด็ดขาดนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ และยังเชื่อกันว่ายังไม่มีใครกล้าแตกทัพแยกออกไปจากพรรคประชาธิปัตย์แล้วไปตั้งพรรคใหม่เหมือนกับ “กลุ่ม 10 มกรา” ในอดีต

แต่น่าจะเคลื่อนไหวต่อรองกันภายในแบบรอจังหวะ รอสถานการณ์ในวันข้างหน้าเป็นตัวชี้ขาด โดยพิจารณาถึงความนิยมของ คสช. โดยเฉพาะความนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ายังอยู่ในระดับใด หลังจากเจอแรงเขย่าหนักข้อขึ้นทุกวัน!
กำลังโหลดความคิดเห็น