xs
xsm
sm
md
lg

“หมอเจตน์” ลงชื่อรณรงค์โครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย” เชื่อ กม.ใหม่ลดสูบบุหรี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน กมธ.สาธารณสุข สนช. ร่วมเซ็นชื่อรณรงค์โครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย” มั่นใจ พ.ร.บ.ควบคุมบุหรี่ฉบับใหม่สุดเข้ม ช่วยลดสถานการณ์สูบบุหรี่ในไทยลดลงได้

วันนี้ (29 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดบูทรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ภายในห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 โดยเชิญชวนคนไทยที่สูบบุหรี่ ร่วมลงชื่อและลงมือเลิกบุหรี่ ในโครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” โดยตั้งเป้าหมายว่า ในปีแรกจะมีผู้เลิกบุหรี่ได้ครบ 6 เดือน 560,000 คน ปีที่ 2 เพิ่มอีก 1.5 ล้านคน และเพิ่มจนครบ 3 ล้านคนในปี 2562 โดยมีสมาชิกรัฐสภา ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน ร่วมลงชื่อรณรงค์อย่างคึกคัก โดยเฉพาะ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ร่วมลงชื่อเลิกบุหรี่ พร้อมกล่าวชวนเชิญคนไทยช่วยกันรณรงค์ให้งดสูบบุหรี่เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน ซึ่งตนเชื่อว่าสถานการณ์การสูบหรี่ในไทยจะลดลง โดยเฉพาะล่าสุด พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งสาระสำคัญเป็นการควบคุมการขายบุหรี่หรือยาสูบ และป้องกันและมุ่งที่จะคุ้มครองสุขภาพของประชาชนทั่วไปที่ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนเพื่อไม่ให้เข้าถึงบุหรี่ได้ง่าย อาทิ การห้ามแบ่งซองขาย เพื่อช่วยลดนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนเข้าถึงได้ยากขึ้น และไม่มีเงินที่จะไปซื้อด้วย นอกจากนี้ บริษัทที่ผลิตบุหรี่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง ต้องเปิดเผยส่วนประกอบมีสารชนิดใดบ้าง เพราะมีหลายตัวก่อให้เกิดมะเร็งได้ สิ่งเหล่านี้ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรับรู้มีสารชนิดใด และจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคมากขึ้น รวมทั้งบริษัทก็ไม่สามารถในการประชาสัมพันธ์ทางอ้อมก็ไม่ได้ เพราะปกติก็ไม่สามารถประชาสัมพันธ์ได้อยู่แล้ว

“กฎหมายฉบับนี้จะสามารถลดนักสูบหน้าใหม่ได้ในระยะยาว และจะช่วยให้การรณรงค์ของ สสส.ทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย โดยยึดกฎหมายเป็นหลักในการดำเนินการ เพราะที่ผ่านมาเป็นการทำงานโดยไม่มีกฎหมายรองรับ และในอนาคตหากกฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถลดจำนวนการสูบบุหรี่ลงได้ก็คงต้องหาวิธีการอื่นๆต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะลดจำนวนลงมาได้มากที่สุด” นพ.เจตน์กล่าว พร้อมยอมรับว่าการรณรงค์ต่อสู้เรื่องบุหรี่เป็นเรื่องยาก เพราะเกี่ยวข้องกับทุนข้ามชาติ แต่สถิติการสูบบุหรี่ที่ลดลงเนื่องจากได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและองค์กรเอกชน ตลอดจนภาคประชาสังคมที่ร่วมกันรณรงค์อย่างเข้มแข็ง
กำลังโหลดความคิดเห็น