“ประยุทธ์” ลงพื้นที่สถานีสูบน้ำพระโขนง พร้อมพ่อเมือง กทม.-แม่ทัพภาค 1 ตรวจเยี่ยมแก้ไขน้ำท่วม จุดซอยลาซาล-แบริ่ง ทีมรักษาความปลอดภัยเข้มสแกนวัตุระเบิด ห้ามพกแม้กระทั่งไฟแช็ก
วันนี้ (29 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สถานีสูบน้ำพระโขนง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและติดตามแผนบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งพื้นที่ซอยลาซาล-แบริ่ง โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัด กทม. ผู้บริหาร กทม.ให้การต้อนรับ โดยมี พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ร่วมด้วย
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมทั้งสภาพกายภาพอื่นที่เป็นปัญหาทั้งปัญหาผังเมืองและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินปัญหาที่ว่างรับน้ำลดจำนวนลง โครงการก่อสร้าง สาธารณูปโภคต่างๆ ขวางทางน้ำ ปัญหาขยะ วัชพืชและไขมันอุดตันทางระบายน้ำ ตลอดจนท่อระบายน้ำเดิมมีขนาดเล็กเพียง 60 เซนติเมตร จึงส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อฝนตกในปริมาณมากๆ จำเป็นต้องเร่งระบายออกจากพื้นที่โดยเร็ว ปัญหาอีกอย่างที่บ้านเรือนรุกล้ำคลองสาธารณะทำให้กรุงเทพมหานครไม่สามารถเข้าไปพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองได้ ดังนั้น การระบายน้ำของ กทม.จึงใช้แบบระบบพื้นที่ในการบริหารจัดการน้ำท่วม (Polder System) โดยการสูบน้ำจากพื้นที่ออกไปสู่ระบบระบายน้ำหรือแม่น้ำคูคลองให้เร็วที่สุด
ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานครได้เร่งพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้มีความพร้อมรับมือปัญหาน้ำท่วมจากปริมาณฝน น้ำทะเลหนุน และน้ำเหนือไหลหลาก โดยใช้ระบบระบายน้ำหลักและระบบรองควบคู่กันไป ประกอบด้วย ท่อระบายน้ำ คูคลองระบายน้ำ สถานีสูบน้ำประตูระบายน้ำ และบ่อสูบน้ำ ตลอดจนอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ และแก้มลิง แม้ปัจจุบันการพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วมของ กทม.ยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วนเนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ก็ได้ทำแผนประจำปีในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เช่น ดูดเลน คราบไขมัน และล้างท่อระบายน้ำ การขุดลอกคลอง จัดเก็บขยะและวัชพืช เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลได้สะดวก รวมทั้งการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่จุดเสี่ยงและจำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยสามารถดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปี
สำหรับสถานีสูบน้ำพระโขนง เป็นสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ที่สุดใน กทม. มีหน้าที่ในการควบคุมระดับน้ำในคลองประเวศ คลองพระโขนง คลองสำคัญในพื้นที่ กทม.ตะวันออก รวมทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าว มีกำลังการสูบน้ำ 173 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ ได้ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว (อุโมงค์ยักษ์พระราม 9) ขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร เป็นทางลัดน้ำลอดใต้ดิน ลึกจากพื้นผิวประมาณ 25 เมตร โดยปากอุโมงค์ตั้งอยู่บริเวณวัดพระราม 9 ลอดไปคลองแสนแสบ คลองตันถนนสุขุมวิท 71 คลองพระโขนง สิ้นสุดที่สถานีสูบน้ำพระโขนง รวมระยะทาง 5.11 กิโลเมตร กำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยเปิดใช้งานเมื่อปี 2554 ครอบคลุมพื้นที่ 50 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม ลาดพร้าว วังทองหลาง สามารถลดระยะทางการไหลของน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้
นอกจากนี้ยังมีแผนก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มเติม 6 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวน 2 แห่ง ได้แก่โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเกียกกาย คืบหน้าไปแล้ว 90% โดยจะทดสอบระบบในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ และโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้อยู่ระหว่างประชาสัมพันธ์เส้นทางการจัดระบบปิดเบี่ยงการจราจรเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนระหว่างการก่อสร้าง
“การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำโดยการเพิ่มกำลังการส่งและเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ยังมีอุปสรรคและปัญหาที่ทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำลดลง คือ ขยะจำนวนมากบริเวณหน้าสถานีสูบน้ำ และอุโมงค์ระบายน้ำ เฉพาะอย่างยิ่งขยะชิ้นใหญ่ เช่น ที่นอนโซฟา ยางรถยนตร์ ซึ่งในปี 2559 กรุงเทพมหานครจัดเก็บขยะบริเวณหน้าสถานีสูบน้ำได้ประมาณ 6,900 ตัน หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 20 ตันและในปี 2560 ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบันเก็บขยะหน้าสถานีสูบน้ำเป็นจำนวน 1,300 ตัน ทางกรุงเทพมหานครจึงมอบนโยบายให้สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง จัดกิจกรรมรณรงค์เก็บขยะชิ้นใหญ่และระวังปัญหาการลักลอบทิ้งขยะในที่ว่างแม่น้ำคูคลอง”
ในส่วนพื้นที่บริเวณซอยลาซาล-แบริ่ง ถนนสุขุมวิท เขตบางนานั้น มีลักษณะเป็นพื้นที่ต่ำแอ่งกระทะ กทม.วางท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.20 เมตร ทั้งสองฝั่ง เพื่อรองรับน้ำฝนและระบายน้ำลงสู่คลองบางนา และคลองสำโรง แต่เนื่องจากภายในถนนซอยลาซาล-แบริ่ง สูงกว่าถนนสุขุมวิท เมื่อฝนตกลงมาจะทำให้มีน้ำไหลบ่าออกจากซอยดังกล่าวไปยังถนนสุขุมวิท ส่งผลให้น้ำท่วมขังและกระทบต่อการจราจร กทม.จึงได้แก้ปัญหาดังกล่าวชั่วคราวโดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำดีเซลบรรทัดวิทย์ทั้งสองฝั่ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำดีเซลบริเวณซอยย่อยซอยลาซาล เพิ่มเครื่องสูบน้ำบริเวณบ่อสูตรน้ำถนนสุขุมวิทตอนคลองบางนาทั้งสองฝั่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า แต่เนื่องจากภายในถนนซอยลาซาล-แบริ่งสูงกว่าถนนสุขุมวิท เมื่อฝนตกลงมาจะทำให้มีน้ำไหลบ่าออกจากซอยดังกล่าวก็ยังถนนสุขุมวิทส่งผลให้น้ำท่วมขังและกระทบต่อการจราจรกรุงเทพมหานครจึงได้แก้ปัญหาดังกล่าวชั่วคราวโดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำดีเซลทั้งสองฝั่ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำดีเซลบริเวณซอยย่อยซอยลาซาล เพิ่มเครื่องสูบน้ำบริเวณบ่อน้ำถนนสุขุมวิทตอนคลองบางนาทั้งสองฝั่ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ทำนบคูน้ำข้างบริษัท แพรนด้าจิวรี่ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำดีเซลซอยลาซาล 20, 21, 27, 37 ก่อสร้างระบบระบายน้ำบริเวณถนนสุขุมวิทจากซอยสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนาและเพิ่มประสิทธิภาพกำลังสูบน้ำจากปี 2559 จาก 8.97 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นกำลังสูบรวม 12.49 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางมายังสถานีสูบน้ำพระโขนง ได้มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่สารวัตรทหารทั้งชายและหญิง ตำรวจท้องที่ และตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบยืนดูแลตรวจตรา รักษาความปลอดภัยในทุกตรอกซอกซอยบริเวณใกล้เคียงสถานีสูบน้ำ โดยเฉพาะประตูทางเข้าสถานีสูบน้ำมีการกันพื้นที่ ปิดประตูรั้ว เพื่อคัดกรองผู้ที่จะเข้าออกภายในงาน โดยมีการนำเครื่องสแกนวัตถุระเบิด และตรวจค้นสัมภาระผู้ที่เข้าออกอย่างละเอียด แม้แต่ไฟแช็กยังห้ามนำติดตัวเข้าไปในงานด้วย