xs
xsm
sm
md
lg

“ยะใส” หวั่นให้ต่างชาติตั้งในไทย ทำเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แนะพัฒนา MOU กับ ม.ชั้นนำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (แฟ้มภาพ)
“สุริยะใส” ตั้งข้อสังเกต 5 ประการเปิดช่องมหาวิทยาลัยต่างชาติตั้งในไทยได้ หวั่นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จี้นายกฯ ทบทวนแนะพัฒนา MOU กับมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อยกระดับอุดมศึกษาไทยก่อนวิกฤตทั้งระบบ

วันนี้ (28 พ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นว่ากรณีนายกฯ ใช้คำสั่ง ม.44 ให้มหาวิทยาลัยต่างชาติมาตั้งในเมืองไทยได้ โดยกำหนดเงื่อนไขอนุญาตเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และเปิดสอนเฉพาะหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยไทยไม่เปิด เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คนในแวดวงหารศึกษามีทั้งสนับสนุนและคัดค้าน น่าเสียดายที่รัฐบาลตัดสินใจเร็วไปหน่อย ยังไม่ได้ถกแถลงหรือพิจารณ์กันอย่างจริงจัง แม้รัฐบาลจะมีเจตนาที่ดีเพื่อสร้างกลไกในการปฏิรูปการศึกษารองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศก็ตาม แต่ก็มีข้อสังเกตที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาฯ ควรพิจารณาทบทวน 5 ประการ ดังนี้

1. สาขาที่มหาวิทยาลัยไทยไม่เปิดสอนนั้น เพราะขาดอาจารย์ผู้สอน หรือรัฐบาลไม่ส่งเสริม และทำไมรัฐบาลไม่ส่งเสริมถ้าจำเป็นต่อตลาดแรงงานและยุทธศาสตร์ชาติ เช่น การยกระดับการศึกษาอาชีวะที่รัฐบาลวางเป้าหมายไว้จะต่อยอดเพื่ออุดช่องว่างในสาขาวิชาที่ขาดแคลนในระยะยาวได้อย่างไร

2. ทำไมไม่ใช้วิธีสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยไทยทำความร่วมมือ หรือ MOU กับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ในลักษณะจับคู่กันทั้งระดับมหาวิทยาลัยหรือระดับเฉพาะหลักสูตร ซึ่งในปัจจุบันแทบทุกมหาวิทยาลัยก็ทำกันอยู่แล้ว บางมหาวิทยาลัยของรัฐทำ MOU เต็มไปหมด แต่ไม่ประสบความสำเร็จและเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ฉะนั้นรัฐควรเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุน MOU กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในสาขาที่ขาดแคลน เพราะจะทำให้มหาวิทยาลัยไทยมีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลกได้และเป็นการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนกว่า

3. ที่บอกว่ามหาวิทยาลัยต่างชาติที่มาเปิดในไทยได้รับข้อยกเว้นในการกำกับ ควบคุมมาตรฐานจากกระทรวงศึกษาฯ นั้น ไม่น่าจะเป็นธรรมกับมหาวิทยาลัยไทย และจะทำให้เกิดความพิกลพิการของมาตรฐานการศึกษาของชาติในระยะยาว ทั้งยังเท่ากับเป็นการตอกย้ำระบบการประเมินคุณภาพมาตรฐานของอุดมศึกษาไทยที่ต่ำกว่ามาตรฐานฝรั่ง

4. ปรัชญาการเปิดเสรีทางการศึกษาแม้เป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ในยุคทุนนิยมเสรี แต่ปรัชญาการศึกษาของชาติในแต่ละชาติไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และเราควรสงวนอัตลักษณ์และเป้าหมายทางการศึกษาของเราเช่นกัน โดยเฉพาะปรัชญาในการสร้างคนเก่งแต่ต้องเป็นคนดีไปพร้อมๆ กัน

5.เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนแม้มีข้อดีอยู่บ้าง แต่ก็มีข้อเสียไม่น้อยเช่นกันและถ้าไม่ระมัดระวังจะกลายเป็นการศึกษาของคนรวย และคนจนรายได้น้อยเข้าไม่ถึงก็จะได้รับการศึกษาไร้คุณภาพต่อไปความเหลื่อมล้ำและแบ่งแยกในระบบการศึกษาของไทยก็จะยังคงมีอยู่

ดังนั้นแทนที่จะใช้ ม.44 เปิดช่องเอื้อให้ต่างชาติเข้ามาตั้งมหาวิทยาลัย รัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบให้ชัดเจนก่อน และต้องสังคายนามหาวิทยาลัยไทยทั้งรัฐและเอกชน เพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัยของไทยทั้งการสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอน การปฏิรูปหลักสูตรและระบบการกำกับและวิธีการประเมินที่ยังมีปัญหาอยู่มาก
กำลังโหลดความคิดเห็น