ตามดูประวัติ “สมยศ ภิราญคำ” รักษาการเลขาธิการ กฟก.คนใหม่ ทำงานเฉพาะกิจ 180 วัน ตามคำสั่ง หน.คสช. ร่วมแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรที่อยู่ระหว่างบังคับคดี 2,631 ราย 4,403 บัญชี มูลหนี้ 3.5 พันล้าน เผยเคยถูก สตง.-ป.ป.ช.สอบสวนเหตุถูกกล่าวหา ย้ายสำนักงาน-เช่าตึก พ่วง “หักค่าหัวคิว-จัดอบรม” ไม่โปร่งใส ด้านคณะทำงานกองทัพภาค 1 ชงจัดหนี้ 3 พันล้านเกษตรกร 2.1 หมื่นราย-แก้หนี้เร่งด่วนระยะแรก ประเมินมูลหนี้กว่า 1 พันล้าน เกษตรกร 4 พันราย พร้อมเจรจาหนี้สินสถาบันการเงิน แนะใช้ “กาญจนบุรีโมเดล” ผลงานกองทัพบกแก้หนี้สินจังหวัด
วันนี้ (28 พ.ค.) มีรายงานจากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ (กฟก.เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 1/2560 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 26/2560 เรื่องการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูฯ อย่างเร่งด่วน ภายใน180 วัน ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้แต่งตั้งนายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
ทั้งนี้ นายสมยศ และ กฟก.เฉพาะกิจจะเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่อยู่ระหว่างบังคับคดี จำนวน 2,631 ราย ที่เป็นหน้าที่จำเป็นอันดับแรก ที่คณะกรรมการเฉพาะกิจต้องดำเนินการแก้ไขช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร็ว จากข้อมูลทะเบียนหนี้เกษตรกรปัจจุบันพบว่ามีเกษตรกรขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 512,889 ราย มูลหนี้ 84,710 ล้านบาท
คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังมี น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรฯ เป็นรองประธานกรรมการ มีการกำหนดแผนปฏิบัติงานเพื่อเร่งรัดการดำเนินการตามเป้าหมาย โดยมีคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ จำนวน 4 คณะ ที่จะมีการประชุมทุกเดือนตามระยะเวลาจนถึงเดือนธันวาคม 2560 ประกอบด้วย
1. คณะอนุกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ของเกษตรกรกรณีเร่งด่วน โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และผู้แทนกระทรวงการคลังเป็นเลขานุการ
2. คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร ปลัดกรทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน รองเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นเลขานุการ
3. คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างและกฎหมายของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเลขานุการ
4. คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณปี 2560 และ 2561 มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักแผนงานและโครงการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นเลขานุการ
มีรายงานด้วยว่า จากการประเมินเบื้องต้นของคณะทำงาน กองทัพภาคที่ 1 ที่รายงานต่อบอร์ด กฟก.เฉพาะกิจ จะจัดการหนี้ให้เกษตรกรใน 2 แนวทาง คือ 1. โครงการหนี้ 3,000 ล้านบาทที่มีเกษตรกรเกี่ยวข้อง 2.1 หมื่นราย (งบประมาณมีอยู่แล้ว) และ 2. หนี้เร่งด่วนระยะที่ 1ประเมินมูลหนี้ 1,000 กว่าล้านบาท เกษตรกรเกี่ยวข้อง 4,000 กว่าราย จะต้องเร่งจัดการไปพร้อมกัน 3. เจรจาหนี้สินกับสถาบันการเงิน โดยใช้กาญจนบุรีโมเดล ของพล ร.9 ที่ทางกองทัพเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในเรื่องการจัดการหนี้สินในจังหวัด
รักษาการเลขาฯ ติดชนักถูก สตง.-ป.ป.ช.สอบย้าย-เช่าอาคาร อ.ต.ก.ไม่โปร่งใส
มีรายงานว่า ในส่วนของประวัติการทำงานใน กฟก.ของนายสมยศ ภิราญคำ รักษาการเลขาธิการ ที่เข้ามาแทนนายวัชระพันธุ์ จันทรขจร อดีตเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ไม่ผ่านการประเมินจากคณะทำงานกระทรวงเกษตรฯ ของรัฐบาล คสช.นั้น ในปี 2553 รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีโครงการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ซึ่งยอมให้ชาติไทยพัฒนาเข้ามาดำเนินการ สมัยที่นายธีระ วงศ์สมุทร จากพรรคชาติไทยพัฒนา ดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ในขณะนั้นกำกับดูแล กฟก. ได้แต่งตั้งนายวิชิต จันทะแจ้ง มานั่งรักษาการเลขาธิการ กฟก. ต่อมานายวิชิตถูกสั่งจากรัฐบาลให้พักงานจากปัญหาประสานงานระหว่าง กฟก.และรัฐบาลประชาธิปัตย์ ต่อมานายสมยศ ภิราญคำ ลูกหม้อของ กฟก.ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการ
ขณะที่เมื่อปี 2555 นายสมยศเคยถูกตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการถูกกล่าวหาทุจริตการย้ายสำนักงานของกองทุนฟื้นฟูฯ จากย่าน อ.ต.ก.ไปยังบริเวณวัดเสมียนนารี ด้วยความเร่งรีบ เมื่อเดือน ต.ค. 2554 โดยมีการเช่าตึกในอัตราเดือนละ 9 แสนบาท และนำเงิน 15 ล้านบาท ไปให้เจ้าของตึกปรับปรุงอาคาร โดยที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติของกรรมการ รวมทั้งกรณีความไม่โปร่งใสในการจัดอบรมเกษตรกรซึ่งมีการหักค่าหัวคิว และเลือกจัดในศูนย์อบรมของคนที่เป็นพวกเดียวกันเอง
ในคราวนั้น นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล อดีตรองกรรมการบริหาร กฟก.ที่เพิ่งเข้าพบ พล.ต.ธรรมนูญ วิถี รองแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อสัปดาห์ก่อน (17 พ.ค. 2560) เพื่อหารือเรื่องดำเนินการหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อน เคยเสนอให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาสอบสวนนายสมยศ กรณีที่ถูกร้องเรียนเรื่องทุจริต และให้พักงานนายสมยศไว้ก่อน แล้วให้คณะกรรมการกองทุนตั้งอนุกรรมการขึ้นมาสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการกองทุนฯ
ข้อมูลหนี้เกษตรกรสมาชิก ปัจจุบัน 3,737 ราย 4,403 บัญชี มูลหนี้ 3,540,771,638.34 บาท
มีรายงานว่า ภายหลังแต่งตั้งนายสมยศ ภิราญคำ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการเลขาธิการสำนักงาน กฟก. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้านจัดการหนี้ให้เกษตรกรสมาชิก จะเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูลหนี้ สถานะหนี้ของเกษตรกรในแต่ละจังหวัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (คสช.) ในจังหวัดต่างๆ ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการเป็นหนี้โดยแยกประเภทเป็น 2 ประเภท คือ 1. หนี้เร่งด่วนที่มีสถานะหนี้ตั้งแต่ดำเนินคดี จนถึงขายทอดตลาด และ 2. หนี้ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กฟก.ทั้งหมด
ทั้งนี้ ล่าสุด กฟก.ได้จัดทำข้อมูลหนี้ พบว่า มีจำนวน 3,737 ราย 4,403 บัญชี มูลหนี้ 3,540,771,638.34 บาท ข้อมูลดังกล่าวที่ได้นั้น สำนักงาน กฟก.จะนำไปจัดทำแผนการจัดการหนี้เร่งด่วนเสนอคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจพิจารณาในกรอบ 180 วัน และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อของบประมาณในการชำระหนี้แทนเกษตรกรในกรณีหนี้เร่งด่วนต่อไป
ส่วนในกรณีที่สมาชิกที่มีหนี้ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ปี 2546 เป็นต้นมา สำนักงาน กฟก.กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูล ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาและกำลังคนในการดำเนินการ กฟก.จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรสมาชิก หากต้องการให้ กฟก.ดำเนินการช่วยเหลือในการชำระหนี้แทน ให้ติดต่อสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสาขาจังหวัด เพื่อปรับปรุงสถานะหนี้ และแจ้งความจำนงว่าต้องการให้ กฟก.ช่วยเหลือ จะทำให้ข้อมูลหนี้มีความเป็นปัจจุบัน และสามารถเข้าสู่กระบวนการจัดการหนี้ให้เกษตรกรได้ทันต่อความเดือดร้อนของเกษตรกรสมาชิก
ตามดูเบื้องหลังคำสั่ง หน.คสช.ยุบทิ้งบอร์ดบริหาร กฟก.ชุดเดิม
มีรายงานว่า ก่อนจะมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 26/2560 เรื่องการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูฯอย่างเร่งด่วน ภายใน180 วันนั้น กฟก.เกิดภาวะสุญญากาศ โดยทั้งบอร์ดบริหารและเลขาธิการ กฟก.ได้ถูกพักงานในกรณีการประเมินผลงานของนายวัชระพันธุ์ ได้มีกลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) ร่วมกับเกษตรกรกว่า 3,000 คน นำโดยนายชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาสมาชิกฯ ได้ชุมนุมที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งรัฐบาลได้ส่ง พล.ต.ธรรมนูญ วิถี รองแม่ทัพภาคที่ 1 ลงมาเจรจาเบื้องต้นโดยรับปากจะช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สินให้
ต่อมา พล.ต.ธรรมนูญ วิถี รองแม่ทัพภาคที่ 1 ได้เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร จากการเป็นหนี้สินของกลุ่มเครือข่ายหนี้สินแห่งประเทศไทย (คนท.) และสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ที่มาลงทะเบียนมูลหนี้จำนวน 511,971 ราย 643,462 บัญชี จำนวนเงินรวมกว่า 84,205 ล้านบาท โดยมีสำรวจข้อมูลทะเบียนหนี้เกษตรกร ตามสถานะความเร่งด่วนแห่งหนี้ ตั้งแต่สถานะหนี้ดำเนินคดีขึ้นไป รวมทั้งหนี้ที่สอดคล้องและไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ อาทิ มูลหนี้เกิน 2.5 ล้านบาท และหนี้ที่ไม่ใช่เกิดจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
มีรายงานด้วยว่า กรณีปัญหาของ กฟก.ชุดเดิม ศาลปกครองกลางได้นัดไต่สวนในเรื่องการแต่งตั้งบอร์ดบริหารชอบธรรมหรือไม่ (สมัยที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน) และการสั่งพักงานบอร์ดบริหาร หรือก้าวล่วงอำนาจการประเมินผลงานของบอร์ดบริหารต่อเลขาธิการบอร์ดใหญ่ มีอำนาจและความชอบธรรมหรือไม่