xs
xsm
sm
md
lg

“หมอนิรันดร์” ขอนายกฯ ไตร่ตรองทางเลียบเจ้าพระยา จะให้คนยกย่องหรือสร้างความอัปยศแก่ชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน
ผู้จัดการออนไลน์ - “หมอนิรันดร์” แนะรัฐบาลทำทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาต้องฟังเสียงชุมชน ยก “คลองด่าน” เครื่องตอกย้ำความชั่วร้ายคอร์รัปชันเชิงอำนาจ เตือนใช้อำนาจผูกขาดไม่ถูกต้องจะกลายเป็นทางแห่งความเสื่อม ซัดสร้างเขื่อนทำเจ้าพระยาเป็นแค่ร่องระบายน้ำทำลายจิตวิญญาณ เสนอทำ EHIA เป็นหลักประกัน เผยไม่มีฟังชาวบ้านเลย ขอไตร่ตรองใหม่ ต้องการให้คนยกย่องหรือจะสร้างความอัปยศให้ชาติ



นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์กับ “ผู้จัดการออนไลน์” ถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นหากมีการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ถ้าพูดกันตรงไปตรงมาตนมองอยู่ 2 ประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ต้องเข้าใจก่อนว่าที่พูดถึงหลักสิทธิมนุษยชนก็คือสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดอยู่ตลอดเวลาว่าจะปกครองโดยหลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งมันบวกเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนเข้าไปด้วย นั่นคือหลักที่เป็นเรื่องของการประกันเรื่องความเป็นธรรม หรือถ้าพูดกันแบบภาษาชาวบ้านก็คือการคืนความสุขให้ประชาชน ไม่ใช่คืนความทุกข์ ตนคิดว่าประการแรกถ้ารัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องโครงการต้องการคืนความสุขและให้ความเป็นธรรม ถ้านึกถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนก็คือต้องฟังเสียงประชาชนและชุมชน 40-50 ชุมชนในระยะทางตลอด 14 กิโลเมตร ในระยะแรกของการก่อสร้าง และจะทำต่อไปในอีก 50 กิโลเมตร

นพ.นิรันดร์กล่าวว่า ความสำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนมันจะมีหลักประกันอยู่ 2 เรื่อง หลักประกันว่าโครงการมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท ประชาชนจะได้ประโยชน์ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจ ไม่ใช่เป็นผู้ที่เป็นนายทุนธุรกิจ เพราะโครงการรัฐก็คือการที่ใช้เงินภาษีอากรของประชาชน ถ้าประชาชนไม่ได้ประโยชน์ แถมไปทำลายในเรื่องวิถีชีวิต จะเรียกว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้อย่างไร จะบอกว่าเรามีความรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจของประชาชน ใช้เงินของประชาชนได้อย่างไร ฉะนั้นหลักประกันตรงนี้ต้องเกิดจากการที่โครงการทุกโครงการต้องฟังความเห็นจากประชาชน เพราะความเห็นของประชาชนนั้นเป็นหลักประกันว่าโครงการนั้นไม่ทำร้ายเขา

“แต่ถ้าเป็นโครงการของผู้ที่มีอำนาจมันไม่มีหลักประกัน เพราะในอดีตที่ผ่านมาไม่ใช่แต่โครงการโฮปเวลล์ โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน สมัยที่ผมเป็น ส.ว.ตรวจสอบพบประมาณ 13,000 ล้านบาทก็มีการทุจริต จนกระทั่งผู้มีอำนาจในการจัดซื้อที่ดินประมาณไม่เกิน 1,000 กว่าล้านบาท ตอนนี้ไม่มีแผ่นดินจะอยู่ เพราะว่ามีการทุจริต ยังไม่พูดถึงการทุจริตโครงการซึ่งขณะนี้โครงการไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย กลายเป็นอนุสาวรีย์ร้าง และเป็นเครื่องตอกย้ำถึงความชั่วร้ายของการคอร์รัปชันในเชิงอำนาจ และใช้อำนาจของรัฐเข้าไปแทนประชาชนและทำร้ายประชาชน” นพ.นิรันดร์กล่าว

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าสังคมขณะนี้เป็นระบบอำนาจนิยม อำนาจผูกขาด ถ้าบวกกับการใช้ดุลพินิจที่ขาดการมีส่วนร่วม และดุลพินิจอยู่บนผลประโยชน์ของส่วนบุคคล ของคนที่ต้องการแค่ชื่อเสียงทำสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่น่ารังเกียจ ตนว่าตรงนั้นคือรากเหง้าของการที่เรียกว่าการทุจริตคอร์รัปชัน ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวัง เพราะว่าเมื่อมีอำนาจผูกขาด ถ้าใช้อำนาจผูกขาดไม่ถูกต้อง เป็นการใช้อำนาจผูกขาดบวกกับการใช้ดุลพินิจที่ไม่ฟังเสียงประชาชน ตรงนี้คือทางแห่งความเสื่อมของการใช้อำนาจ และโครงการที่คิดว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่จารึกผลงานตัวเองกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ทำลายและทำร้ายคนที่เป็นเจ้าของโครงการหรือคนที่รับผิดชอบหรือรัฐบาลในขณะนั้น

นพ.นิรันดร์กล่าวต่อว่า ประการที่ 2 คือ ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเราต้องนึกถึงเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญปี 40, 50 และ 60 ก็ยังตราอยู่ว่าการที่ชุมชนใน 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เราเป็นชุมชนลุ่มน้ำ เป็นเวนิสตะวันออก อันนี้คือสิ่งที่เรายอมรับแต่ไม่ได้หมายความว่าเราพร่ำเพ้อกับสิ่งที่เป็นโบราณ แต่การที่เขาจะทำลายชุมชนวิถีเป็นร้อยๆ ปีที่อยู่กับลำน้ำ แล้วมาสร้างเขื่อนริมแม่น้ำ สร้างกำแพงสูง และมองแค่ว่าตรงนั้นคือร่องระบายน้ำเจ้าพระยา แทนที่จะเป็นลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่เป็นที่ขึ้นชื่อลือชาของทั่วโลก ตรงนี้คือการทำลายชีวิตและจิตวิญญาณ ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์ ได้แต่สิ่งก่อสร้างที่ดูแล้วมันไม่ได้เป็นเรื่องของชีวิตและจิตวิญญาณของคนกรุงเทพฯ หรือแม้กระทั่งคนในสังคมไทยก็ตาม ทำตรงนี้ไม่ได้เกิดประโยชน์ ไม่ได้เกิดในการใช้ประโยชน์ และการบริหารจัดการที่ประชาชนเขาจะได้รับผลในประโยชน์อย่างเต็มที่

“ขณะนี้สิทธิชุมชนมันก้าวข้ามไปถึงสิทธิในการพัฒนา ถ้าคุณบอกว่าโครงการตรงนี้ต้องการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของคนไทย เพื่อประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ โครงการนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าเราจะต้องนึกถึงประโยชน์ของชาวบ้าน เพราะฉะนั้นโครงการนี้จะเกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านได้ ต้องมีการบริหารจัดการที่เรียกว่าหลักธรรมภิบาลคือการเปิดเผย โปร่งใส และสิ่งสำคัญคือขณะนี้เรามีกระบวนการในการจัดการเราเรียกว่าการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพชุมชน ที่เรียกว่า EHIA ต้องมีกระบวนการตรงนี้ เพราะโลกมันเปลี่ยนแล้ว โครงการต่างๆ ถ้าไม่มีการศึกษาวิจัยองค์ความรู้เพื่อดูว่าสร้างแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ชาวบ้านจะได้ข้อดีข้อเสียมาบวกกับการมีส่วนร่วม ดังนั้น โครงการนี้ต้องผ่านการศึกษา EHIA ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่าโครงการนี้จะไม่เสียเปล่า จะเกิดต่อชุมชนและท้องถิ่น คือการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก ไม่เช่นนั้นโครงการนี้จะกลายเป็นเรื่องความอัปยศ สิทธิในการพัฒนามันมีกระบวนการในการทำงาน และปัจจุบันนี้อย่าไปคิดว่าพอบอกว่าโครงการนี้ต้องการสร้างชื่อให้กับประเทศ แต่ว่าไม่สนใจในกระบวนการในการรักษาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ มันก็คือการทำลายเป้าหมายที่เราต้องการนั่นเอง” นพ.นิรันดร์กล่าว

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า เพราะฉะนั้นทั้ง 2 ส่วน สิทธิการมีส่วนร่วม สิทธิชุมชนและสิทธิในการพัฒนา เป็นสิ่งที่รัฐบาล ผู้ที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องช่วยกันขบคิด ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน ไม่เช่นนั้นตนคิดว่า โครงการที่มีมูลค่ามหาศาล แทนที่จะทำให้คนที่รับผิดชอบมีชื่อเสียง ตนกลัวว่าจะเป็นการทำลายชื่อเสียงของบุคคลเหล่านั้น เพราะเรามีตัวอย่างในทางรูปธรรม อันนี้ไม่ใช่ว่าเราไปสอน แต่ประวัติศาสตร์มันจะซ้ำรอยไปตลอด ช่วงนี้มันไม่ได้สำคัญที่ตนมาพูด สำคัญที่ตนพูดแล้ว เราพูดด้วยความหวังดี เพื่อต้องการให้ประเทศชาติพัฒนาไปข้างหน้า ถ้าพูดแล้วท่านไม่ฟัง ท่านต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง

เมื่อถามว่า การรับฟังความคิดเห็นของชุมชนของทางรัฐบาลนั้นรอบด้านดีหรือยัง นพ.นิรันดร์กล่าวว่า มันไม่มีเลย เพราะการมีส่วนร่วม ตนยอมรับว่าสังคมไทยส่วนราชการทำไม่ได้และทำไม่เป็น เพราะกระบวนการมันต้องเกิดขึ้นจากการที่เราต้องให้ข้อมูลข่าวสารก่อน ถึงมีกระบวนการรับฟัง แค่ทั้ง 2 อย่างในโครงการนี้ เราพบว่าชุมชนต่างๆ ยังไม่มีส่วนที่รับรู้ หรือรู้ก็ไม่เท่าเทียมกัน ตรงนี้เป็นจุดที่มีความสำคัญ เพราะการที่คุณจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้และมีการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้ ถ้าเขาไม่รู้ข้อมูลเขาจะตัดสินใจได้อย่างไร ดังนั้นจะไปโทษว่าขณะนี้ประชาชนพูดอะไรไม่ได้ ไม่รู้เรื่องเลยแล้วบอกประชาชนโง่เง่า ไม่ใช่ แต่รัฐเองมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลข่าวสารก่อน รัฐเองต้องกระตุ้นให้เห็นว่านี่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ใช้เงินของพวกเรา แทนที่จะบอกว่าฉันตัดสินใจได้ สามารถที่จะรับผิดชอบได้ ท่านสามารถรับผิดชอบเงินเป็นร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้าน สามารถรับผิดชอบโครงการโฮปเวลล์ที่กำลังจะทุบทิ้งในขณะนี้ สามารถรับผิดชอบอนุสาวรีย์โครงการบำบัดน้ำเสียที่เป็นหมื่นล้าน ที่สมุทรปราการได้หรือไม่ ไม่ได้ เพราะเมื่อตอนนั้นท่านหมดจากอำนาจแล้ว แต่คนเขาจะด่าท่าน

“ตรงนี้คือสิ่งที่ผมอยากจะย้ำว่ากระบวนการนี้ยังมีเวลาที่จะให้ผู้รับผิดชอบพิจารณาไตร่ตรองให้ละเอียด ว่าท่านต้องการให้เป็นคนที่ได้รับการยอมรับ เคารพ ยกย่อง หรือถูกเขาด่าประจานว่าท่านเองกำลังทำความอัปยศเสียหายให้แก่ชาติบ้านเมือง ตรงนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการที่จะต้องยอมรับกระบวนการรับฟังความเห็น ที่จะยอมรับว่านี่คือสมบัติสาธารณะ แม่น้ำเป็นสินทรัพย์ของแผ่นดิน คำว่าแผ่นดินนี้คือสมบัติสาธารณะ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ รัฐบาลก็ไม่ได้เป็นเจ้าของ คุณประยุทธ์ ก็ไม่ใช่เจ้าของ แต่คนที่เป็นเจ้าของคือคนไทยทุกคน เรากำลังจะทำลายทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน โดยสิ่งที่ท่านคิดว่าท่านทำถูกต้อง ผมก็อยากจะเรียนว่าท่านลองไตร่ตรองใหม่ เพราะหลายคนได้ผิดพลาดและทำความผิดพลาดมาแล้ว และเมื่อผิดพลาดแล้วตัวเองก็หมดอำนาจ แต่ตอนมีอำนาจนั้นท่านไม่รับฟังคนอื่น” นพ.นิรันดร์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น