xs
xsm
sm
md
lg

“ไกรศักดิ์” เตือนทางเลียบเจ้าพระยาจะเป็นอนุสรณ์ความอัปยศคล้าย “โฮปเวลล์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัน อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ผู้จัดการออนไลน์ - “ไกรศักดิ์” ชี้โครงการทางเลียบเจ้าพระยาแค่รัฐอยากได้โครงการใหญ่ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ ยก “โฮปเวลล์” มีแค่ 2 หน้ากระดาษดันอนุมัติจนกลายเป็นความอัปยศ เตือนจะกลายเป็นอนุสรณ์คล้ายกัน สับคิดไม่รอบคอบ ยันวัฒนธรรมริมน้ำไทยต่างยุโรป ถ้าจะทำต้องมีทัศนคติสูง เคารพต่อประวัติศาสตร์-โบราณสถาน ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ ระบุรูปแบบใหญ่เกินไป จวกรัฐธรรมนูณเห็นชาวบ้านเป็นเด็กไร้วุฒิภาวะ รัฐมองตัวเองเหมือนเป็นเจ้าของประเทศ

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัน นักวิชาการ และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กับ “ผู้จัดการออนไลน์” ถึงปัญหาการเร่งรัดโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาของรัฐบาลว่า วิธีการทำงานเหมือนหลายรัฐบาลที่ผ่านมา โดยอยากจะได้โครงการใหญ่ๆ แล้วก็ไม่คำนึงถึงว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร เพราะตัวเองนั้นรู้ว่ามันมีขอบเวลาของการบริหาร เลยไม่ค่อยแยแสต่อผลกระทบ อันนี้ตนยกตัวอย่างได้ ในอดีตเขื่อนเกือบทุกเขื่อนที่สร้างมาบนเส้นน้ำลำธารในประเทศไทยเกือบสิบกว่าเขื่อน ไม่มีการสำรวจอะไรเลย และผลกระทบทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ คนเป็นพันคนที่โดนโยกย้ายจากพื้นที่ทำมาหากินของเขายังมีปัญหาอยู่มาก อันนี้เรื่องหนึ่ง

นายไกรศักดิ์กล่าวว่า เรื่องที่สองก็คือว่า มีตัวอย่างที่ค่อนข้างจะชัดเจน ในกรุงเทพมหานครเวลาเราเร่งรีบทำโครงการยักษ์จนผลกระทบยังคาราคาซังอยู่จนถึงทุกวันนี้ ยกตัวอย่างโครงการที่จัญไรที่สุดมันเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน ชื่อโฮปเวลล์ เป็นโครงการที่มีการประเมินมา 2 หน้ากระดาษแค่นั้น ตนอยู่ในฝ่ายบริหารก็บอกว่ามันผ่านไม่ได้แบบนี้ ต้องเอารายละเอียดมา โครงการนี้ก็ยังไม่ได้ผ่าน แต่ว่ามาผ่านในสมัยหลังจากมีการรัฐประหารในยุคคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ก็ผ่านโครงการนี้ แล้วปรากฏว่าเป็นโครงการที่ไม่ได้คิดหน้าคิดหลังเลย จะเอารถไฟร่วมกับทางด่วนวิ่งขนานกับทางด่วนด้วย มันก็เลยเกิดไม่ได้ เพราะว่าเอกชนในสัญญาอันนี้จะให้พื้นที่ข้างล่างที่มีรางรถไฟ ให้บริษัท โฮปเวลล์ไปทำอสังหาริมทรัพย์หมดเลย แล้วมันจะเป็นไปได้อย่างไร อันนี้เลยไม่ได้เกิด ก็เลยเป็นโครงการอัปยศ มันก็คาราคาซังอยู่กี่ปี รัฐบาล รสช.ก็หายไปแล้ว โดนขับไล่ไปแล้ว โครงการนี้มันก็ยังคาราคาซังอยู่แล้วมันก็ไม่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นอนุสรณ์ของความล้มเหลวของโครงการใหญ่

“ผมเกรงว่าถนนเลียบริมแม่น้ำเนี่ย ถ้ามันเริ่มปักเสาเมื่อไหร่ ประชาชนเริ่มประท้วง เพราะว่าเมื่อเขามีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น มันจะมาบังหน้าบ้านเขา มาบังวัดเขา มาขวางทางเดินของน้ำ ทำให้น้ำอาจจะท่วมมากขึ้นบางจุด หรือทำให้วัดวาอารามเสียทัศนียภาพลงไป ผมว่าจะกลายเป็นอนุสรณ์คล้ายๆ กับโฮปเวลล์ ตัวอย่างมันเห็นอยู่แล้ว และก็จะโดนชาวบ้านเขาด่าตลอด นี่เป็นปัญหาที่ว่าคิดไม่รอบคอบ คืออาจจะไปเมืองนอกเมืองนามามาเห็นที่ฝรั่งเศสที่วิ่งริมแม่น้ำ ที่อังกฤษมีทางเดิน แต่ส่วนใหญ่ผังเมืองริมแม่น้ำใหญ่ๆ ในเมืองบูดาเปสต์ ปารีส เยอรมนี หรือออสเตรีย มันทำตั้งแต่ศตวรรษที่ 18-19 เขาคำนึงถึงผังเมือง ที่สาธารณะเป็นเวลายาวนาน เพราะวัฒนธรรมเขาต่างจากเรา ของเรานี่เป็นวัฒนธรรมที่อยู่ริมแม่น้ำ ทำมาหากินกัน แล้วก็อาศัยแม่น้ำเป็นที่อาบน้ำ จับปลากินกัน มันคนละอย่างเลย แต่เราจะสังเกตว่าพื้นที่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าใกล้ๆ แม่น้ำแล้วก็จะมีที่บ้าง” นายไกรศักดิ์กล่าว

นายไกรศักดิ์กล่าวต่อว่า ตนเสนอว่าถ้าทำโครงการอย่างนี้ขึ้นมาอยู่ดีๆ ไม่ฟังเสียงประชาชน มันก็จะโดนเขาว่าว่าไม่เคารพในสิทธิการเป็นมนุษย์ของคนเลย เพราะแต่ละคนที่มาให้ความคิดเห็นคัดค้าน ต่อต้านหรือให้ปรับปรุง ให้คำนึงถึง ให้คิดอีกที หรือให้ลดโครงการให้ละเอียดหน่อย แต่ละคนนี่มีความรู้ในเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม เคารพต่อสิทธิของแต่ละชุมชน ตนคำนึงถึงเรื่องนี้มาก และคิดว่าการเป็นรัฐบุรุษก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ คุณจะมาฟังผู้รับเหมาเพียงอย่างเดียว อย่างเช่นประเทศลาว ฟังแต่บริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดยักษ์ก็สร้างเลย ขวางแม่น้ำโขงเลย ที่เขื่อนไซยะบุลี ผลจะกระทบกระเทือนต่อประเทศกัมพูชา เวียดนาม อย่างไรไม่สน ทั้งๆ ที่ประเทศพวกนี้ตกใจ และก็มีมติขอให้คำนึงถึงแล้วศึกษาสัก 9 ปีได้หรือไม่ อันนี้ก็คือส่วนหนึ่ง เรากำลังเรียกร้องเขาแบบนี้

“ผมพูดในส่วนของผมที่เคยทำงานในฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานครมา 2 สมัย ผมก็ทราบดีว่าโครงการประเภทนี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารต้องการมาก จะให้ปรับปรุงให้เมืองมันสวยขึ้น แต่ว่าทัศนคติมันต้องมีสูงด้วย และต้องเคารพต่อผลประโยชน์ ต่อประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ชุมชน ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ รูปแบบอันนี้มันใหญ่เกินไป ไม่มีลักษณะที่ตามจุดของวัฒนธรรมในพื้นที่เลย อันนี้สำคัญมาก เมืองกรุงเทพมันเกือบ 300 ปี มีประวัติศาสตร์สูงมาก ชุมชนต่างๆ เหล่านี้อยู่อย่างน้อย 100 กว่าปีมา คุณจะทำอะไรกับเขาเนี่ยมันจะต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตเขาด้วย” นายไกรศักดิ์กล่าว

นายไกรศักดิ์กล่าวว่า คือกฎหมายในการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน มันอ่อนแอมาก คือให้อำนาจต่อรัฐ รัฐเองปัจจุบันนี้ตามรัฐธรรมนูญมองประชาชนคล้ายๆ กับไม่มีวุฒิภาวะ เป็นเด็กๆ ไปหมด มันขึ้นอยู่กับข้าราชการประจำ ผู้ที่มีอำนาจแค่นั้นถึงจะรู้เรื่องอะไรที่ควรจะทำไม่ควรจะทำ ประชาชนนั้นไม่ค่อยมีเสียงเท่าไหร่นัก คล้ายๆ ลูกน้องเขา แล้วก็มองตัวเองเหมือนเป็นเจ้าของประเทศ คนอื่นคล้ายๆ กับมาอาศัยกับเขาอยู่แค่นั้น นี่เป็นทัศนคติที่ตนอึดอัดมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น