“กกต. สมชัย” หนุนใช้โปรแกรมอีอาร์เอ็มเลือกตั้ง ไม่หวั่น สนช. เตรียมชี้ชะตา กกต. ปัจจุบัน ระบุออกแบบไหนก็ไม่กระทบการจัดเลือกตั้งเหตุ สนง. เตรียมงานต่อเนื่อง ชี้ กกต.จว.- ผู้ตรวจเลือกตั้งมีข้อดี - เสีย แนะใช้ร่วมกัน
วันนี้ (21 พ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวภายหลังบรรยาย ในหัวข้อ “มองการเลือกตั้งครั้งหน้าตามตารางต่างประเทศ” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการของมูลนิธิองค์การกลางเพื่อประชาธิปไตย ว่า ที่ผ่านมา มีการนำโปรแกรมเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงในการเลือก หรือ อีอาร์เอ็ม มาทดลองใช้ในการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ที่มี 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การอบรมอาสาสมัคร การตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์ของอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ และการประเมินภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี
“ผมจะเสนอให้ใช้โปรแกรมดังกล่าวในการเลือกตั้งปี 2561 ที่จะถึงด้วย โดยจะเพิ่มปัจจัยสำคัญเข้าในโปรแกรม เช่น ความเสี่ยงในการทุจริต จะจัดกลุ่มเขตเลือกตั้งที่เสี่ยง และจะจัดบุคลากรเพิ่มเติมในเขตนั้น เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงดังกล่าว รวมทั้งการเสริมให้มีภาคประชาชนเข้าร่วมตรวจสอบความโปร่งใสในการเลือกตั้งผ่านองค์กรเอกชนต่างๆ ด้วย ซึ่งโปรแกรมนี้ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม แต่จะจัดเข้ากับการอบรมในจังหวัดต่างๆ แทน”
ทั้งนี้ นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่การประชุมสัมมนาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ จ.จันทรบุรี ยังไม่มีข้อยุติเกี่ยวกับคุณสมบัติของ กกต. ว่า เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาต่อการทำงานของ กกต. เพราะไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ก็ต้องทำงานอย่างเต็มที่ อีกทั้ง กกต. เองก็ไม่ได้หยุดงาน แต่ได้เตรียมงานในส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดเวลาด้วยความทุ่มเท และเอาใจใส่ ซึ่งไม่ใช่ว่ามีใครต้องออก หรือมีใครถูกสรรหาเข้ามาใหม่จะเป็นอย่างไร เพราะ กกต. เตรียมงานทุกอย่างมาต่อเนื่อง สุดท้ายแล้ว หากมี กกต. คนใดต้องขาดคุณสมบัติจริง องค์กรก็ยังคงอยู่ กกต. คนใหม่ต้องมาเรียนรู้และศึกษางานว่าสิ่งที่คนเก่าทำเป็นอย่างไรบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติ อย่าไปยึดติด กกต. ทุกคนทำงานเต็มที่ ขอให้ฝ่ายออกกฎหมายเป็นผู้ประเมินเองว่าแบบไหนจะมีผลดีมากกว่ากัน และคิดว่าต้องรอฟังผลโหวตของที่ประชุม สนช. ในวันที่ 9 มิ.ย. นี้ เรื่องคุณสมบัติของ กกต. จะมีความชัดเจน
นายสมชัย ยังกล่าวด้วยว่า หากผลสุดท้ายแล้วเป็นไปตามที่ กรธ. เสนอ แน่นอนว่า เรื่องคุณสมบัตินั้น นายประวิช รัตนเพียร กกต. ด้านกิจการการมีส่วนร่วม ก็จะต้องพ้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินมาก่อนไม่เกิน 10 ปี ส่วนตนก็ได้เตรียมแฟ้มเอกสารข้อมูลการทำงานภาคประชาสังคมในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา เพื่อเสนอคณะกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาคุณสมบัติ กกต. ว่า ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ คิดว่า น่าจะเพียงพอตามที่มีการการกำหนดให้ผู้ที่จะเข้ารับการสรรหาต้องมีการทำงานภาคประชาสังคมไม่น้อยกว่า 20 ปี แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสรรหาว่าจะพึงพอใจหรือไม่ ถ้าพึงพอใจก็ทำงานต่อ หากไม่พึงพอใจก็ต้องพ้นหน้าที่ไป
ส่วนกรณี กรธ. เสนอร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. .... ต่อสนช. ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งทำหน้าที่แทน กกต. จังหวัด ว่า ตนคิดว่า หากมีทั้งสองอย่างอาจเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมกัน เช่น หากพื้นที่ใดมีความเสี่ยงทุจริตการเลือกตั้งเป็นพื้นที่สีแดง พื้นที่สีส้ม หรือพื้นที่สีเหลืองที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษ กกต. ก็จะส่งผู้ตรวจการเลือกตั้งลงไปตรวจสอบพื้นที่นั้นว่าเกิดอะไรขึ้น มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ไปหาข่าวและเก็บข้อมูลเพื่อใช้ประกอบในการจัดการเลือกตั้ง แต่ไม่ว่าผลสุดท้ายจะออกมาอย่างไร จะให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งอย่างเดียว กกต. ก็พร้อมจัดการเลือกตั้งตามรูปแบบที่กำหนด แต่อยากเสนอว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งจะมีจุดอ่อนในบางเรื่อง ส่วน กกต. จังหวัด เอง ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในบางเรื่อง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ สนช. เป็นผู้คิดประเมินว่า รูปแบบใดดีกว่ากัน โดย กกต. ก็ได้เตรียมเรื่องงบประมาณการจัดการเลือกตั้งและต้องเตรียมกำลังคนแล้ว หากจะใช้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพื่อให้กลไกต่างๆ เกิดขึ้นได้จริง และเมื่อดำเนินการไปแล้วเป็นอย่างไรก็ค่อยมาสรุปบทเรียนอีกครั้ง