อดีต ส.ว.กทม.ยื่นข้อมูลเพิ่มผู้ตรวจฯให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่ผ่าน สนช.เหตุกระทำขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ทำตาม ม.77 วรรคสอง เมินฟังเสียงประชาชน ตัด ม.10/1 โดยไม่ถูกตามข้อบังคับประชุม เปรียบลักไก่เหมือนศรีธนญชัย
วันนี้ (18 พ.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. เข้ายื่นข้อมูลเพิ่มเติมต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายทิฆัมพร ยะลา เจ้าหน้าที่สอบสวนผู้ชำนาญการ สำนักตรวจสอบเรื่องร้องกรณีก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและมีความเห็นเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่ผ่านการพิจารณาของ สนช.เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดย น.ส.รสนากล่าวว่า วันนี้เป็นการยื่นเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าว เพราะการที่ สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมเป็นช่วงรอยต่อก่อนที่รัฐธรรมนูญใหม่จะประกาศใช้เพียง 6 วัน ซึ่งมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมาออกมาตรการปฏิบัติตามมาตรา 77 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ ว่าทุกหน่วยงานที่จะตรากฎหมายขึ้นจะต้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และจัดทำรายงานผลกระทำอย่างรอบด้าน ซึ่ง สนช.ย่อมรู้แนวทางการจัดทำร่างกฎหมายตามบทบัญญัติของมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ สนช.ไม่ได้มีการดำเนินการจัดทำความคิดเห็นตามมาตรา 77 วรรคสองแต่อย่างใด ย่อมทำให้ประชาชนเสียสิทธิในการร่วมตรากฎหมายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
“โดยพบว่า สนช.มีการตัดมาตรา 10/1 ออกไปโดยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม และไม่มีการลงมติให้ตัดออกโดยที่ประชุม สนช. ซึ่งทราบว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นคนขอไว้ ต้องถามกลับว่า สนช.ปฏิบัติหน้าที่ต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติใคร ต้องทำหน้าที่เพื่อประชาชนใช่หรือไม่ และการที่ สนช.ไม่มีฝ่ายค้าน ฝ่ายตรวจสอบในการตรากฎหมาย กฎหมายเกือบทุกฉบับก็จะผ่านทุกครั้งใช่หรือไม่ และยิ่งตัดมาตรา 10/1 ออกไปโดยที่ไม่ลงมติ สนช.ใช้เทคนิคเหมือนเป็นการล้มมวยก่อนที่ไม่มีการลงมติ และใช้วิธีการถอนออกไป จะใช้กับกฎหมายอื่นๆ ไม่ได้ เหมือนเป็นการลักไก่เหมือนศรีธนญชัยเกินไป”
เมื่อถามว่าร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมยังเป็นเพียงร่างกฎหมาย อาจจะไม่อยู่ในอำนาจผู้ตรวจการฯ หรือไม่ น.ส.รสนากล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราก็ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 213 ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว แต่การมายื่นผู้ตรวจการฯ นั้นก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งตาม มาตรา 77 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเราเห็นว่าการที่จะทูลเกล้าฯ ถวายร่างกฎหมายจะต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ