คปต.อนุมัติผู้ช่วยทูตตำรวจ 2 นายประจำมาเลเซีย ประสานงานเรื่องใต้ เผยต้องมีคุณสมบัติตำแหน่งระดับรองผู้บังคับการ-เข้าใจภาคใต้-ภาษาอังกฤษดี พร้อมผุดโรงงานไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก ให้ กอ.รมน.ภาค4 ตั้ง ชุดประเมินสัมพันธ์ อุดช่องโหว่เหตุรุนแรง-ตั้ง คกก.ทบทวนคัดคนเข้าโครงการพาคนกลับบ้าน
วันนี้ (17 พ.ค.) ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ พล.อ.จำลอง คุณสงค์ และนายจำนัล เหมือนดำ ตัวแทนคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ส่วนหน้า แถลงข่าวภายหลังการประชุมผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ครั้งที่ 3/2560 ว่าในวันนี้เป็นการประชุมเน้นย้ำการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และติดตามความคืบหน้าของกลุ่มงานกลุ่มที่ 2 ภารกิจงานอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ กลุ่มงานที่ 4 ภารกิจงานการศึกษา ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม กลุ่มงานที่ 5 ภารกิจงานพัฒนาศักยภาพในพื้นที่และคุณภาพชีวิตของประชาชน และกลุ่มงานที่ 6 ภารกิจงานเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย
โดย พล.ต.ท.ไพฑูรย์กล่าวว่า ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบให้มีผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจประจำประเทศมาเลเซีย จำนวน 2 คน โดยมีผู้ช่วยทูตกับรองผู้ช่วยทูตทำหน้าที่ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมช่วยประสานงานโดยเฉพาะภารกิจหน้าที่ตำรวจ เช่น งานด้านการข่าว ด้านปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และอื่นๆ รวมทั้งงานด้านความมั่นคง ทั้งนี้ผู้ช่วยทูตตำรวจประจำประเทศต่างๆของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตง.) มีมาตั้งแต่ปี 2557 โดยมีผู้ช่วยทูตตำรวจประจำอยู่แล้ว 3 ประเทศ คือ ประเทศจีน ประเทศกัมพูชา และประเทศพม่า ซึ่งผลปฏิบัติงานใน 3 ประเทศเป็นเป็นที่น่าพึงพอใจ
“ประเทศมาเลเซียมีพรมแดนติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยซึ่งเรากำลังประสบปัญหาอยู่ ผมคิดว่าควรมีผู้ช่วยทูตตำรวจเพื่อช่วยแก้ไขและประสานงานต่างๆ และมีที่ตั้งประจำ ณ สถานทูตไทยประจำประเทศมาเลเซีย ขณะเดียวกัน ทางมาเลเซียก็มีตำแหน่งดังกล่าวประจำประเทศไทยมานานแล้ว ในที่ประชุม คปต.ได้พิจารณาเห็นชอบตามที่ผมโดยให้กองการต่างประเทศของ สตช.ดำเนินการคัดสรรบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตตำรวจประจำประเทศมาเลเซีย ซึ่งต้องมีคุณสมบัติ คือ อยู่ในตำแหน่งรองผู้บังกับการ ยศพันตำรวจเอก (พ.ต.อ.) และต้องเป็นคนที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ และเข้าใจเรื่องงานและหน้าที่ ทั้งนี้เราจะเสนอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาในกระบวนการต่อไป” พล.ต.ท.ไพฑูรย์กล่าว
ขณะที่ พล.อ.จำลอง ผู้รับผิดชอบกลุ่มภารกิจงานเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย กล่าวว่า ได้มีการหารือในเรื่องของพลังงานไฟฟ้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ส่งเจ้าหน้าที่มาชี้แจง โดยมีข้อสรุปว่าพลังงานไฟฟ้าในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังคิดว่าจะต้องเสริมประสิทธิภาพของพลังงานไฟฟ้า โดยการให้มีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ให้มากขึ้น แต่ปัญหาก็คือผู้ที่สนใจที่จะมาลงทุนจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งทางศูนย์อำนวยการจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จัดตั้ง one stop service ขึ้นมา เพื่อให้นักลงทุนเข้าไปยื่นเรื่อง และทางการไฟฟ้าต้องการให้เสนอเป็น Package รวมเพื่อขออนุญาตการไฟฟ้าเป็นส่วนรวม โดยมีผู้แทนพิเศษเป็นผู้กำกับดูแล
พล.อ.จำลองกล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้เสนอเรื่องให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ให้มีชุดประเมินความสัมพันธ์ระหว่างส่วนราชการกับประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเรามีความเห็นว่าจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ บิ๊กซี จ.ปัตตานีนั้นจะต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีกเพราะเป็นผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก สิ่งที่จะหลีกเลี่ยงได้ก็คือส่วนราชการตั้งแต่ทหาร พลเรือน และตำรวจในพื้นที่จะต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับประชาชน รวมถึงห้างร้านต่างๆ จะต้องมีระบบป้องกัน เช่น CCTV หรือระบบป้องกันตัว การฝึก ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ที่คอยระวังป้องกันในแต่ละส่วนอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่อาจจะไม่อยู่ในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ในส่วนของห้างร้านต่างๆ ผู้ประกอบการ ภาคเอกชนจะมีเจ้าหน้าที่อยู่ตลอด ถ้าหากส่วนราชการมีส่วนร่วมในการช่วยให้คำแนะนำหรือหากขาดแคลนเรื่องกล้อง CCTV อาจจะจัดหาเพิ่มเติมได้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและป้องกันเหตุร้ายไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก
“ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ในพื้นที่ต่างๆ แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถคลุกคลีกับประชาชนได้ทุกวัน ในส่วนของการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่เขตเมืองนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเป็นหลัก หากเจ้าหน้าที่ส่วนนี้ได้มีความสัมพันธ์ ความหวาดระแวงก็จะหายไป กลายเป็นเพื่อนกันร่วมทุกข์ร่วมสุข โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราจะต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เราจะชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ในขณะนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะเกิดขึ้นแล้วว่าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกนั้น ก็จะต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่เกิดขึ้น” พล.อ.จำลองกล่าว
พล.อ.จำลองกล่าวอีกว่า การสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น คำตอบสุดท้ายที่อยู่ที่ภาคประชาชนทหารส่วนราชการเป็นเนื้อเดียวกันกับประชาชนเมื่อนั้นการแก้ไขปัญหาจะบรรลุผลสำเร็จซึ่งขณะนี้ประชาชนปฏิเสธความรุนแรง เพียงแต่ประชาชนต้องมีที่พึ่งหลักก็คือเจ้าหน้าที่ที่เป็นตำรวจ ทหาร พลเรือนที่อยู่ในพื้นที่ หากเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา หากทำอย่างจริงจังมีความแนบแน่น ปัญหาก็จะแก้ไขได้ เราพยายามทำไปสู่จุดนั้นทุกครั้งที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ประชาชนจะรู้สึกไม่ดีต่อผู้ที่ก่อเหตุ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการพาคนกลับบ้านขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาทบทวนโครงการนี้อีกครั้งเพื่อให้เกิดความรัดกุม โดยมอบหมายให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเป็นผู้ดำเนินการหลัก
ด้านนายจำนัลกล่าวว่า สำหรับกลุ่มงานด้านการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ที่มีกระทรวงศึกษาเป็นหน่วยงานหลักนั้น เรื่องสำคัญที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษา 20 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2579 เพราะปัญหาการศึกษา ถือเป็นปัญหาหนึ่งในการสร้างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่โดยมีการกำหนดวิสัยทัศฯน์ว่า ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องได้รับการเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข ในสังคมพหุวัฒนธรรม สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 มี 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง 2. การพัฒนาคุณภาพคนทุกช่วงอายุ 3. การพัฒนาคนให้มีสมรรถนะในการแข่งขัน 4.การสร้างโอกาสทางความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางการศึกษา 5. การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6. การพัฒนาระบบการบริหารการศึกษา นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการยังได้เน้นย้ำ ส่งเสริมเรื่องการกีฬาในสถานศึกษา รวมถึงการมอบทุนการศึกษา
ส่วนหลักสูตรตาดีกานั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการมีคณะทำงานหนึ่งชุดประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและศาสนา เข้ามาบริหารจัดการและจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมือกัน ขณะเดียวกันยังได้จัดทำคู่มือมาแจกจ่ายให้แก่โรงเรียนตาดีกาทุกพื้นที่ สำหรับการตรวจสอบกรณีที่มีอุสตาซไปเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความรุนแรงนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้มีคณะทำงานขึ้นมาอีกหนึ่งชุดทำหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณและการสอนโดยเข้าไปตรวจสอบในลักษณะของคณะทำงานผู้มีความรู้ในด้านนี้เฉพาะและเชิญตัวอุสตาซบางคนที่มีความเห็นต่างมาทำความเข้าใจ นอกจากนี้จะมีการเคร่งครัดในการตรวจสอบประวัติของคนที่จะมาเป็นอุสตาซมากขึ้น
นอกจากนี้แล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังได้จัดตั้งโรงเรียนกีฬาขึ้นมาอยู่ในโรงเรียนมัธยมที่สอนระดับสามัญในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งพัฒนาตัวนักกีฬา คณะกรรมการตัดสินให้มีมาตรฐาน ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีการตอบรับอย่างดีโดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล บาสเกตบอล และปันจักสีลัต