xs
xsm
sm
md
lg

สปท.แจงชงใช้ ม.44 ออก กม.ปฏิรูป 36 ฉบับ ตามแนวทาง สปช.และเงื่อนไขเวลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนปฎิรูปประเทศ  (แฟ้มภาพ)
“เสี่ยจ้อน” แจง สปท.ชงใช้ ม.44 ออก กม.ปฏิรูป 36 ฉบับ ตามแนวทางที่สานต่อ สปช.และเงื่อนไขเวลา โต้เสนอโค้งสุดท้าย คำนึงถึงการรับฟังความเห็น วิเคราะห์ผลดีผลเสีย ย้ำไม่ต้องการให้การปฏิรูปประเทศสะดุด

วันนี้ (17 พ.ค.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับข้อเสนอของประธาน สปท.ที่เสนอให้ใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายปฏิรูป 36 ฉบับ จึงขอทำความเข้าใจว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปนับแต่ สปท.เข้ามาสานงานการปฏิรูปต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 จึงไม่ใช่มาเสนอในช่วงโค้งสุดท้ายของการทำงานอย่างที่เข้าใจกัน โดย
สปท.เสนอการบริการจัดการการปฏิรูปเป็น 2 แนวทางสำหรับข้อเสนอปฏิรูปและกฎหมายปฏิรูป ได้แก่ 1. การใช้อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี 2. การใช้กฎหมายเพื่อการปฏิรูปโดยตราเป็นพระราชบัญญัติผ่าน สนช. หรือใช้มาตรา 44 ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีว่าจะใช้แนวทางใด โดยที่ผ่านมาก็ถือปฏิบัติเช่นนี้มาตลอด

อย่างไรก็ตาม ควรเข้าใจว่าในการปฏิรูปประเทศต้องใช้เครื่องมือหลายอย่างขึ้นกับความยากง่าย เพราะประเทศมีปัญหานานัปการที่สะสมหมักหมมมานานจึงต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว รอบคอบ และเน้นการมีส่วนร่วมเพื่อให้การปฏิรูปใน 11 ด้านคืบหน้ามากที่สุด พร้อมวางรากฐานใหม่ให้แก่ประเทศเพื่อส่งมอบประเทศให้รัฐบาลหน้าต่อไป โดยเฉพาะเมื่อการปฏิรูปประเทศเข้าสู่โรดแมประยะที่ 2 นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ป.ย.ป.มีเป้าหมายให้ดำเนินการปฏิรูป 27 วาระสำคัญและเร่งด่วน 42 เรื่อง 5 ด้านได้แก่ ด้านปฏิรูปกลไกภาครัฐ, ด้านปฏิรูปเครื่องมือพัฒนาฐานราก, ด้านปฏิรูปเศรษฐกิจอนาคต, ด้านปฏิรูปทรัพยากรมนุษย์ และด้านปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีกฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อการปฏิรูป 36 ฉบับต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 ดังนั้น ประธาน สปท.เห็นว่าภายใต้เงื่อนเวลาที่จำกัดและงานของ สนช.ที่มากขึ้นในการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายตามรัฐธรรมนูญอีก 40-50 ฉบับ จึงเสนอให้ใช้แนวทางมาตรา 44 แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแนวทางเดียว เพราะยังคงใช้แนวทางผ่านสภานิติบัญญัติด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับนายกรัฐมนตรีจะเห็นควร ข้อยืนยันคือในการประชุมคณะกรรมการประสานงานระหว่าง สนช.และ สปท. (วิป 2 ฝ่าย) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการของทั้งสองสภาไปร่วมกันศึกษากฎหมายปฏิรูป 36 ฉบับล่วงหน้า โดยให้คำนึงถึงการรับฟังความคิดเห็น และวิเคราะห์ผลดีผลเสียของกฎหมายแต่ละฉบับตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันด้วย

ส่วนประเด็นว่าทำไมไม่รอให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติดำเนินการนั้นเพราะไม่ต้องการให้การปฏิรูปประเทศขาดตอนสะดุดหยุดลงและเสียเวลาอันมีค่าของประเทศ สปท.เสนอรายงานปฏิรูปและข้อเสนอแนะกว่า 150 เรื่อง และร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศกับแม่น้ำ 5 สายคืบหน้าไปมาก แต่คงไม่เสร็จทุกเรื่องทุกด้าน ก็ส่งไม้ต่อให้คณะกรรมการ 2 ชุดดังกล่าว โดยมี ป.ย.ป.เป็นโซ่ข้อกลางในการเชื่อมต่องานอย่างเป็นกระบวนการต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น