xs
xsm
sm
md
lg

สตง.พบ อปท.ฝ่าฝืนจ่ายสมทบประกันสังคม-เช่ารถไม่มีประกันภัย-แอบทำประกันรถหลวง หวังเรียกสินไหม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สตง.จี้ผู้ว่าฯ สั่ง อปท.ระงับจ่ายเงินสมทบประกันสังคม “พนักงานจ้างเหมาบริการ” เหตุระเบียบ มท.ไม่ได้กำหนดเป็น “ลูกจ้าง อปท.” เผยพบ อปท.บางแห่ง “เช่ารถยนต์จากผู้ให้เช่า” ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่า แถมไม่มีประกันภัยรถยนต์ชั้นหนึ่ง หวั่นเกิดความเสียหาย ยังพบ อปท.บางแห่งแอบเอา “รถหลวง” ทำประกันภัยรถยนต์เพื่อเรียกสินไหม แม้ระเบียบฯ ระบุไว้ทำประกันได้เฉพาะ “รถส่วนกลาง” พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ (16 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการแจ้งผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ไปยังผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากกรณี สตง.ตรวจสอบงบการเงินของ อปท.พบว่า มี อปท.บางแห่งกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับใน 3 กรณี โดยขอให้ทุกจังหวัดควบคุม กำกับดูแล อปท.ให้ถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและหนังสือกระทรวงมหาดไทยอย่างเคร่งครัด

โดยประเด็นแรก สตง.พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ได้ทำการเช่ารถยนต์จากผู้ให้เช่าที่ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่า เช่น ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าไม่ตรงตามสัญญา ผู้ให้เช่าไม่จัดให้มีการประกันภัยรถยนต์ที่เช่าประเภทชั้นหนึ่งตลอดอายุสัญญาเช่า หรือผู้ให้เช่ามิได้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และไม่ได้เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่ให้เช่า โดยประเด็นนี้เนื่องจาก การถือปฏิบัติเกี่ยวกับ “การเช่ารถยนต์” ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังโดยอนุโลม ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดเงื่อนไขในการเช่ารถยนต์มาใช้ในราชการ ซึ่งการเช่ารถในแต่ละครั้งให้ทำสัญญาเช่าเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยให้ทำสัญญากับบริษัทหรือผู้ประกอบการซึ่งจดทะเบียนให้บริการเช่ารถโดยตรง และต้องเป็นรถใหม่ไม่เคยใช้งานมาก่อน หรือกรณีรถเสีย หรือเกิดอุบัติเหตุ บริษัทผู้ให้เช่า ต้องจัดหารถในสภาพตามสัญญาเช่ามาทดแทนให้ทันที

ประเด็นที่ 2 สตง.พบว่า ในการทำประกันภัยรถยนต์ส่วนกลางภาคบังคับและภาคสมัครใจ ตามตรา 7 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ได้ยกเว้นให้รถยนต์ส่วนราชการรวมทั้งรถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ต้องจัดมีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยหรือประกันภัยภาคบังคับ ส่วนการทำประกันภัยภาคสมัครใจ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย มท 0808.2/ว 2633 ลงวันที่ 14 ส.ค. 2552 เรื่องซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการเบิกค่าใช้จ่ายในการประกันภัยรถราชการ ได้กำหนดว่า รถยนต์ที่จะทำประกันต้องเป็นรถยนต์ส่วนกลางในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ต้องมีรถยนต์ในลักษณะการใช้งานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่ารถยนต์ส่วนกลางตามปกติ และหรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว มีโอกาสก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินองบุคคลในวงกว้าง เช่น รถยนต์ที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รถบรรทุกวัตถุอันตราย หรือเป็นรถโดยสารที่มีจำนวนตั้งแต่ 20 ที่นั่งขึ้นไป แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ซึ่งมิได้อยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดทำประภัยภัยรถยนต์ ภาคบังคับ หรือทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจแก่รถยนต์ส่วนกลางและรถประจำตำแหน่ง

ประเด็นสุดท้าย สตง.พบว่า ในเรื่องของการจ่ายเงินเพื่อเป็นเงินสมทบประกันสังคมให้กับบุคคลจ้างเหมาบริการ เนื่องจากระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินของ อปท. พ.ศ. 2547 ข้อ 67 กำหนดให้ อปท.จะจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้แต่เฉพาะที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือหนังสือสั่งการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ แต่มี อปท.บางแห่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อเป็นเงินสมทบประกันสังคมให้แก่บุคคลจ้างเหมาบริการตามสัญญาจ้าง เนื่องจากเห็นว่า บุคคลจ้างเหมาบริการนั้นเป็นลูกจ้างที่ผู้เป็นนายจ้างต้องมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบประกันสังคมให้บุคคลดังกล่าวตามนัยพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กรณีดังกล่าว อปท.ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อเป็นเงินสมทบประกันสังคมได้ เพราะบุคคลจ้างเหมาบริการ ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างของ อปท. โดยผู้รับจ้างเหมาบริการเป็นเพียงผู้รับจ้างทำของ จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับ อปท.ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง อปท.ผู้ว่าจ้างจึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ว่าจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม

แหล่งข่าวจาก สตง.ระบุว่า พบว่ามี อปท.หลายแห่งกระทำการดังกล่าวจริง แต่หนังสือที่ส่งไปยัง กระทรวงมหาดไทย เพื่อต้องการป้องปราม และป้องกัน อปท.ไม่ให้ฝ่าผืนกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ จึงไม่มีการระบุพื้นที่ อปท. หรือจังหวัดที่เป็นเป้าหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น