xs
xsm
sm
md
lg

มท.รับลูก ก.เกษตร ตั้งทีมงาน เช็กเพิ่มสถานะความมีอยู่จริงเรือ-ซากเรือประมง 3,535 ลำใน 54 จังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มหาดไทย รับลูก ก.เกษตร สั่งตั้งคณะทำงานระดับอำเภอ สำรวจเพิ่มเติม สถานะความมีอยู่จริง เรือ-ซากเรือประมง 3,535 ลำที่ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือ เรือแจ้งการงดใช้ และเรือที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง ในพื้นที่ 54 จังหวัดริมทะเล อ่าวไทย-อันดามัน เร่งทำข้อมูลใน 1 สัปดาห์ ตามความก้าวหน้า IUU Fishing

วันนี้ (15 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า กระทรวงมหาดไทยทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 54 จังหวัด (พื้นที่ติดอ่าวไทย และทะเลอันดามัน) ให้ดำเนินการสำรวจสถานะความมีอยู่จริงของเรือประมงที่ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือ เรือแจ้งการงดใช้ และเรือที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง ในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 3,535 ลำ ภายหลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีคำสั่งติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเรือประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ตามข้อเสนอของสหภาพยุโรป (EU) และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข

หนังสือดังกล่าวยังมีคำสั่งให้นายอำเภอแต่งตั้ง “คณะทำงานสำรวจเรือประมง” ที่ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือ เรือแจ้งการงดใช้ และเรือที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง ตามกรอบเวลาในการสำรวจ 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 18-25 พ.ค. 2560 โดยมีปลัดอำเภอผู้ประสานงานประจำตำบล เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมีคณะทำงาน ประกอบด้วย กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ในท้องที่ที่มีเรือประมง เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ประมงอำเภอ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนอำเภอที่มีเรือประมงในบัญชีสำรวจเกิน 50 ลำ ให้แต่งตั้งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่แต่ละอำเภอเป็นหัวหน้าคณะทำงานเพิ่มเติม และผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค ชุดตรวจเรือสมทบประสานงานกับคณะทำงานชุดนี้ โดยมีปลัดจังหวัดเป็นที่ปรึกษา

มีรายงานว่า หนังสือฉบับนี้ขอให้คณะทำงาน ทำการถ่ายภาพเรือหรือซากเรือ ชื่อ/ทะเบียนเรือหรือชื่อทะเบียนซากเรือ เจ้าของเรือหรือซากเรือที่พบ รวมถึงถ้อยคำเจ้าของเรือหรือซากเรือ และที่พักอาศัย/บ้านเลขที่ของเจ้าของเรือและซากเรือ ที่ชัดเจนและหากไม่พบเจ้าของเรือหรือซากเรือให้ทำการเขียนกำกับในกระดานไวท์บอร์ดกำกับไว้ เป็นต้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า จากมาตรการบริหารจัดการกองเรือในช่วงที่ผ่านมา มีชาวประมงเกือบ 2 พันลำ ร้องเรียนผ่านสมาคมประมงแห่งประเทศไทยว่า ขอให้มีการตรวจวัดขนาดเรือประมงใหม่ โดยขอให้เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ได้แก่ กรมเจ้าท่า กรมประมง กองทัพเรือ มาตรวจวัดเรือประมงใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาการออกไปทำการประมงต้องแจ้งเข้าออกที่ศูนย์ PIPO หากขนาดเรือลำจริงไม่ตรงกับทะเบียนเรือ จะไม่สามารถออกไปทำการประมงได้ ซึ่งจากการตรวจสอบผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายของทางการไทยพบว่า ยังมีผู้ลักลอบกระทำผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายหลายฉบับที่ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการแก้ไข

มีรายงานว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเรือประมง ร่วมกับกรมประมง และศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) สำรวจ ตรวจเรือ และวัดขนาดพร้อมตอกอัตลักษณ์เรือประมงพาณิชย์และเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็นเรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง เรือบรรทุกน้ำจืด หรือเรือที่ใช้ในการสนับสนุนการประมง ทั้งที่มีและไม่มีทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ หรือใบอนุญาตทำการประมง ที่เข้ามาร้องเรียนผ่านทางสมาคมการประมง และเรือที่สามารถสำรวจได้เพิ่มเติมให้เสร็จสิ้นภายใน 20 พฤษภาคม 2560 เพื่อให้เกิดความถูกต้องในการบริหารจัดการกองเรือประมงของไทย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะได้เริ่มดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2560

มีรายงานจาก ศปมผ.ว่า ข้อมูลของ ศปมผ.พบเรือประมงตามที่ขึ้นทะเบียน 11,700 ลำ ส่วนอีก 8,024 ลำไม่พบ ซึ่งเรือจำนวนนี้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ตามคำสั่ง ที่ 42/2558 ถอนใบอนุญาตทั้งหมดแล้ว โดยมีผู้มายื่นอุทธรณ์ จำนวน 2,293 ราย ซึ่ง ศปมผ.เห็นว่าหากเป็นกรณีที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ให้คืนสิทธิ์ให้แก่เรือประมงจำนวนดังกล่าวทันที ซึ่งพบว่า เรือประมงที่ถูกถอดใบอนุญาตจำนวน 157 ลำ เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ได้มีการคืนสิทธิ์ให้ทั้งหมด คงเหลือเรือประมงที่เข้าแจ้งอุทธรณ์แต่ยังไม่ได้รับการคืนสิทธิ์ แบ่งเป็นเรือประมงพื้นบ้านจำนวน 1,622 ลำ เรือประมงพาณิชย์ 514 ลำ
ตัวอย่างข้อมูลเรือที่ต้องสำรวจ/ตรวจสอบความมีอยู่จริงของเรือ
กำลังโหลดความคิดเห็น