xs
xsm
sm
md
lg

สปท.รับทราบรายงานร่าง กม.มั่นคงไซเบอร์ ชงใช้ ม.44 ตั้ง กปช. “คำนูณ” หวั่นคุกคามสิทธิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (แฟ้มภาพ)
สปท.รับทราบรายงานร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ให้อำนาจ กปช.ล้วงตับข้อมูลเอกชน กมธ.จ่อดันเข้า สนช.ด่วน พร้อมเสนอ “บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 ตั้ง กปช.ทำงานรองรับล่วงหน้า “คำนูณ” ห่วงติดหนวดให้ รบ.เลวใช้เป็นเครื่องมือคุกคาม ปชช. แนะตัด ม.44 อนุสามออก ใช้อำนาจศาลเต็มร้อย ชี้ตรวจสอบเอกชนอาจหมิ่นเหม่คุกคามเสรีภาพ ปชช.

วันนี้ (15 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยมี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวาระการปฏิรูปที่สำคัญและเร่งด่วน เรื่องผลการศึกษาและข้อสังเกตร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ที่มี พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน มีสาระสำคัญคือ การวางมาตรการรับมือและป้องกันระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต การสื่อสาร โทรคมนาคม และดาวเทียม หากเกิดสถานการณ์รุนแรงต่อระบบดังกล่าว โดย พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธาน กมธ.ชี้แจงต่อที่ประชุม สปท.ว่า ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น มีการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ สาธารณูปโภค ดาวเทียม ฯลฯ ถือเป็นภัยคุกคามใกล้ตัว ทั้งในส่วนบุคคล ภาครัฐ เอกชน สร้างความเสียหายมาก กมธ.จึงศึกษาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว พร้อมนำร่างที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.มาพิจารณา และมีข้อสังเกตและข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลนำไปแก้ไข เช่น การแก้ไขคำจำกัดความของไซเบอร์ให้กว้างขวาง ครอบคลุมความมั่นคงของชาติในทุกมิติทั้งด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม การให้บริการดาวเทียม ระบบกิจการสาธารณูปโภค ระบบกิจการสาธารณะ เช่น ระบบขนส่ง ถือเป็นเครือข่ายระดับประเทศ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงทางทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวว่า ขณะเดียวกันยังเสนอแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) จากเดิมให้ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธาน มาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และมี รมว.กลาโหม รมว.ดีอี เป็นรองประธาน เนื่องจากความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน การให้นายกฯ หรือรองนายกฯ เป็นประธาน กปช. เพื่อให้กำหนดทิศทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ เพราะนายกฯหรือรองนายกฯ มีอำนาจกำกับดูแลทุกระทรวง ทบวง กรม ขณะที่สำนักงาน กปช. ที่ร่างเดิมมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ แก้ไขเป็น ให้เป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการขับเคลื่อนสั่งการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดย กปช.มีอำนาจกำกับดูแล ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ สามารถสั่งการหน่วยงานราชการ เอกชน ให้กระทำการหรือยุติการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ รวมทั้งมีอำนาจการเข้าถึงข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐและเอกชนได้ เมื่อเกิดเหตุที่เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์

พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลของภาครัฐและเอกชนที่เกรงว่า การเข้าถึงข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของกปช.จะกระทบสิทธิเสรีภาพประชาชนนั้น ได้มีการแก้ไขให้การดำเนินการดังกล่าวต้องอยู่ภายในคำสั่งศาล ยกเว้นกรณีเหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนหากไม่ดำเนินการอาจเกิดความเสียหายร้ายแรง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการอนุมัติของ กปช.ดำเนินการเข้าถึงข้อมูลได้ และรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว ส่วนบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้แก้ไขให้มีโทษทางอาญาโดยเจตนาด้วย จากเดิมมีแค่โทษทางวินัยแก่หัวหน้าส่วนราชการที่ไม่ปฏิบัติตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

“เพื่อให้ทันต่อภัยคุกคามในปัจจุบันและอนาคต ได้เสนอให้รัฐบาลเสนอร่างดังกล่าวต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ประกาศใช้โดยเร็ว แต่ในระหว่างนี้ กมธ.เสนอให้นายกฯ ใช้อำนาจ ม.44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 หรือมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญปี 60 ตั้ง กปช.ขึ้นมาทำหน้าที่ก่อน และเมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ให้โอนกิจการทั้งปวงของ กปช.ที่ตั้งขึ้นไปเป็นของ กปช.ชุดใหม่ เสมือนเป็นการทำงานของ กปช.”

จากนั้นสมาชิก สปท.ได้อภิปรายแสดงความเห็น ส่วนใหญ่ท้วงติงเรื่องการกำหนดคำนิยาม “ไซเบอร์” ที่กว้างเกินไป และการมีอำนาจสั่งการให้เอกชนต้องปฏิบัติตาม อาจก้าวล่วงไปถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท.กล่าวว่า นับแต่เราเข้ามาทำหน้าที่ โดยมีโรดแมปคือจะไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ทิศทางบางประการเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองทำให้เราต้องยอมรับอำนาจและความเด็ดขาดบางประการ แต่การเขียนกฎหมายระยะยาวต้องคำนึงว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้อยู่ตลอดไป อีก 10-20 ปีข้างหน้าหากเราได้รัฐบาลไม่มีคุณธรรมเข้ามา เครื่องมือที่เราเขียนไว้ก็จะกลับมาเป็นเครื่องมือในการทิ่มแทงสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น มาตรา 44 อนุ 3 ที่บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติ ให้เจ้าพนักงานรับหนังสือมอบหมาย จากเลขาธิการ ในการมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสาร ทั้งไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ ฯลฯ หรือดำเนินมาตรฐานต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการรักษาความมั่นคงไซเบอร์ สามารถระงับยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยยื่นคำร้องต่อศาลในการปฏิบัติหน้าที่

“การที่ กปช.มีอำนาจตรวจเอกชน หรือนอกเครือข่ายรัฐอาจหมิ่นเหม่เข้าไปเกี่ยวข้องสิทธิเสรีภาพประชาชน การระบุในกรณีเร่งด่วนให้พนักงานขออนุมัติ ป.ป.ช.ดำเนินการไปก่อนแล้วขออนุมัติศาลทราบโดยเร็ว ศาลจะว่าอย่างไรก็ทำไปแล้ว ปกติตัวแทนศาลมาชี้แจงข้อกฎหมายก็ยืนยันว่าสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผมขอเสนอให้เป็นเรื่องของศาล 100 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าทาง สนช.สามารถจัดหาองค์กรศาลพร้อมไต่สวนได้ทุกเรื่องตลอดเวลา เพื่อเป็นหลักประกันความสบายใจให้เอกชน และประชาชนโดยทั่วไป อย่างน้อยมีศาลยุติธรรมกลั่นกรองสุดท้าย จึงขอให้ตัดประเด็นนี้ออกไป จะเกิดประโยชน์ในภาพรวม”

อย่างไรก็ตาม ตัวแทน กมธ.ชี้แจงว่า เราเห็นว่าในกรณีเรื่องใหญ่ๆ ที่รอไม่ได้ ควรให้ผ่านคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไปก่อนค่อยขออำนาจศาลเหมือนกฎหมายคอมพิวเตอร์ แต่สิ่งที่นายคำนูณห่วงใยนั้นก็ค่อนข้างเห็นด้วย และจะมีการรับข้อเสนอของสมาชิกและประมวลข้อห่วงใยต่างๆ ส่งไปคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยตรงเพราะร่างอยู่ที่กฤษฎีกาแล้ว

หลังจากสมาชิก สปท.อภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมได้รับทราบรายงานฉบับดังกล่าว จากนั้นจะส่งรายงานให้ ครม. และคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบการพิจารณาต่อไป











กำลังโหลดความคิดเห็น